วันนี้

ประวัติวัดช้าง ความเป็นมาและเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์


วัดช้าง (ช้างให้) ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำผึ้ง สี่แยกเอเชีย อ่างทองมี ถนนสาย บางปะอิน-นครสวรรค์ ตัดผ่าน เลขที่ ๕๕ หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
 เดิมสถานที่ตั้งวัดนี้มีฝูงช้างป่าอาศัยพักและลงเล่นน้ำ สมัยสุโขทัย พระฝ่ายอรัญวาสี มาแวะพักผ่อนประจำ ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างที่พักถวายพระ ช้างจึงให้ที่ หลีกไป จึงเรียกวัดนี้ว่าวัดช้างให้ สร้างขึ้นราวพ.ศ. ๑๘๔๕

ต่อมาสมัยอยุธยา พ.ศ. ๒๑๒๘ มีการรบที่ทุ่งบางแก้ว พระราชมนู แม่กองระวังหน้า ได้ใช้วัดช้าง-ให้เป็นที่ ตั้งทัพ ๑๐,๐๐๐ นาย ส่งกองทหารออกลาดตระเวนดูกองกำลังของกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ แม่ทัพหน้าพม่า การรบครั้งนี้ เป็นการรบแบบกองโจร
ครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย สมเด็จพระนเรศวรกองทัพไทยได้รับชัยชนะ ทรงโปรดให้ นำพระราชทรัพย์มีทองคำเป็นต้นมาปฏิสังขรณ์วัด พระราชมนู (เพชร ) ให้พ่อครูดาบพลอย ใช้เรือกระแชงไปขนทองคำและพัสดุที่จำเป็น จากกรุงศรีอยุธยา มีช่างสิบหมู่มาช่วยบูรณะอุโบสถ
ต่อมาหลังเปลี่ยนแผ่นดิน พระราชมนูได้ลาออกจากสมุหกลาโหม บวชอยู่ที่วัดช้างให้นี้ได้สร้างวิหารถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนสิ้นอายุขัย ศิษย์และชาวบ้านจึงสร้างเจดีย์ บรรจุอัฐิรูปทรงกลม(ระฆังคว่ำ) สมัยอยุธยาตอนปลาย พระสงฆ์ ๓ พ่อลูกทรงฌานอภิญญาปกครองวัดสืบมา(หลวงปู่รอด,หลวงพ่อพ่วง,หลวงพ่อเพ็ง) และว่างเว้นพระสงฆ์ในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระพ่วง พระเปรื่อง และว่างเว้นพระสงฆ์อีก พ.ศ. ๒๔๗๒ นายแรม นางใย ขำพักตร์ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ ในช่วงนี้ที่วัด มีช้างตาบอดอาศัยอยู่ และพื้นบ้านนี้เป็นสถานที่เจ้าหน้าที่กรมช้าง นำช้างกลับมาเลี้ยงที่บ้านเกิดและที่วัด ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดช้าง”จนถึงปัจจุบันนี้

วัดช้างได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ได้หนังสือรับรองสภาพวัดใหม่ ที่ อท ๐๐๓๐/๐๓ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอ่างทองแห่งที่๒

ลำดับเจ้าอาวาสวัดช้าง เท่าที่ทราบ ดังนี้ 

๑.พระราชมนู(หลวงพ่อเพชร)
๒. หลวงปู่รอด
๓. หลวงพ่อพ่วง
๔. หลวงพ่อเพ็ง (๒.เป็นบิดา ๓.เป็นบุตร ๔.เป็นบุตร ทั้ง๓รูปทรงอภิญญา )
และว่างเว้นพระสงฆ์ในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐
๕.พระพ่วง
๖. พระเปรื่อง ๗. พระโห ( พ.ศ.๒๔๖๖) รก.เจ้าอาวาส ,พ.ศ. ๒๔๗๘ พระรอด รก.เจ้าอาวาส
๘. พระเฉื่อย
๙. พระนา
๑๐. พระศิริ (พิทักษ์สาลี)
๑๑. พระฮวด
๑๒. พระปุ่น (อนนท์พันธ์)
๑๓. พระกลั่น (วัฒนศิริ)
๑๔.พระใบฎีกาช้อย วิสารโท (เขม้นจันทร์) พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๓๔
๑๕. พระครูสุวัฒน์วรกิจ(สุพจน์ สุวจฺจโน ,ช่วงฉ่ำ)พ.ศ.๒๕๓๔ - 




เจ้าอาวาสวัดช้าง (ช้างให้)
- เป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านแห
- เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองอ่างทอง ๒ สมัย
- เป็นพระธรรมทูตประจำหน่วยปฏิบัติการอำเภอเมืองอ่างทอง
- ได้รับ๘ รางวัลพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ พ.ศ.๒๕๔๗
- เป็นกรรมการสถานศึกษา
- เป็นกรรมการศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดอ่างทอง ฯลฯ
การจัดการศึกษา
- มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอน พ.ศ. ๒๕๓๔
- จัดพระเข้าสอนศีลธรรมในโรงเรียน บ้านน้ำผึ้ง สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอ่างทอง

โบราณสถานวัตถุในวัด อุโบสถ มหาอุด อายุ ๗๐๘ ปี สมัยสุโขทัย วิหาร พระราชมนูสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมัยอยุธยา) ใบสีมา หินทรายแดง เจดีย์ ทรงลังกา สมัยอยุธยา ๒ เจดีย์ พระพุทธรูปหินทราย จำนวนมาก รูปปั้นหลวงพ่อรอด หลวงพ่อพ่วง หลวงพ่อเพ็ง พระผู้ทรงคุณพิเศษสมัยอยุธยา เป็นที่เคารพสักการะมาจนปัจจุบันนี้ พระพุทธรูป เป็นพระประธานในอุโบสถมหาอุด ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย เรียกว่าหลวงพ่อทอง และหลวงพ่อเพ็ชร(ปางสมาธิ) - ในวิหารฐานสำเภา มีพระพุทธชินราช สร้างถวายเป็นที่ระลึกปีกาญจนาภิเษก ๗๒ พรรษา ร.๙ - ในหอปฏิบัติธรรม มีพระอนันตชิน เป็นพระประธานปางปฐม เทศนา เป็นที่ระลึก๘๐ พรรษามหาราชา(หลวงพ่อสำเร็จ)

วิหาร พระราชมนูสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมัยอยุธยา)

พระประธานในวิหารพระราชมนู

พระพุทธรูปหินทรายปางต่าง ๆ ในวิหารพระราชมนู

อุโบสถ มหาอุด อายุ ๗๐๘ ปี สมัยสุโขทัย

พระประธานในอุโบสถมหาอุด (หลวงพ่อทองคำ)

เสมา ใบสีมา หินทรายแดง ลงรักปิดทองสมัยอยุธยาตอนกลาง

เจดีย์บรรจุอัฏฐิของพระราชมนู เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม

เจดีย์บรรจุอัฏฐิ สมภารเจ้าวัด (อดีตเจ้าอาวาส)

เจดีย์พลีกรรม (เจ้ากรรมนายเวร) ถวายเป็นพุทธบูชา

อดีตสมภารเจ้าวัด (หลวงปูรอด หลวงพ่อพวง หลวงเพ็ง)
ธรรมาสน์บุษบก อายุประมาณ ๑๕๐ ปี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง นายช่างสร้าง คือ นายชิด เกิดเพียร เจ้าภาพสร้างถวายโดย ทวดแรม ทวดใย ขำพักตร์

ซุ้มกำแพงแก้วอุโบสถใหม่ สร้าง พ.ศ.2545

อุโบสถหลังใหม่ สร้าง พ.ศ.2527

ในวิหารฐานสำเภา มีพระพุทธชินราช สร้างถวายเป็นที่ระลึกปีกาญจนาภิเษก ๗๒ พรรษา ร.๙

ในหอปฏิบัติธรรม มีพระอนันตชิน เป็นพระประธานปางปฐม

พระพุทธรูปทวารวดีหินทราย

พระสังกัจจายน์ สร้าง พ.ศ.2527 สร้างถวายโดย คุณสุพิศ์ สุขสุวรรณ ร้านข้าวสารตุ่มทอง

กิจกรรมของวัด
ทางวัดจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมตลอดปี
- เปิดอุโบสถวิหาร เข้าชมจิตรกรรม ภาพพุทธประวัติ ไหว้พระ นั่งสมาธิจิต เดินจงกรม ได้ทุกเวลา มาพักเข้าปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน
- งานประจำ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ จัดบวชเนกขัมมะปฏิบิติธรรม ๗ วัน ถวายอาหารแก่พระสงฆ์(สัตตะมหาทาน)
- งานถวายสลากภัต วันที่ ๔ พฤษภาคม ทุกปี
- งานรับพระภิกษุเข้าประพฤติวุฏฐานวิธี วันที่ ๒๕ เมษายน ถึง ๔ พฤษภาคม ทุกปี
- งานเทศน์มหาชาติ วันสารทไทยสิ้นเดือน ๑๐ ทุกปี
- งานตักบาตรเทโว ในวันปวารณาออกพรรษา ทุกปี ฯลฯ

เกร็ดประวัติวัดช้าง (จากคำบอกเล่า) 
ตำบลบ้านอิฐ 
เรื่องราวของท้องถิ่นต่างๆในจังหวัดอ่าทองมีผู้บันทึกไว้น้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องความเป็นมาของวัดต่างๆมีหลักฐานการปรากฏในประวัติศาสตร์น้ยอมาก ข้าพเจ้าได้ศึกษาจากเอกสารต่างๆ และบุคคลรวมทั้งหนังสืออื่นๆ พบว่าความเป็นมาของวัดต่างๆยังคลุมเครือ แม่แต่ประวัติของวัดต่างๆในบริเวณนี้บางวัดยังหาหลักฐานที่ชัดเจไม่ได้ เช่นเรื่องเกี่ยวกับวัดช้างในส่วนที่เป็น ปี พ.ศ. การสร้างวัดช้าง ในหนังสือของศาสนจัดพิมพ์บอกว่าวันี้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๔๕ ซึ่งรู้สึกว่าจะเก่าเกินไป ซึ่งถ้าสร้างในระยะนั้นจริงก็คงจะตรงกับสมัยที่เมือง อโยธยายังเป็นเมืองเล็กไม่ใช่นครหลวงแต่อย่างใด
เพื่อให้มองเห็นภาพว่า วัดช้างมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าจึงรวบรวมเรื่องราวต่างๆเท่าที่จะหาได้ ในหลายแง่หลายมุมเพื่อเป็นทางนำไปสู่คำตอบที่ว่า วัดช้าง สร้างขึ้นมาเมื่อใดและพัฒนามาจนเป็นสื่อของศูนย์รวมทางจิตใจของคนในบริเวณนี้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามุ่งประโยชน์ ๒ อย่าง คือ
๑.เสนอเรื่องราว เพื่อเป็นแนวทางในการหาคำตอบเรื่องประวัติความเป็นมาของวัดช้าง
๒.เสนอข้อเท็จจริงบางอย่าง เพื่อให้ผู้สนใจเกิดศรัทธา และช่วยกันพัฒนาวัดนี้ให้เป็นศูนย์รวมทางใจและเป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนต่อไป ในการแสวงหาข้อเท็จจริง ข้าพเจ้าได้หาหลักฐานจากสิ่งต่อไปนี้คือ ๑.บุคคลที่มีอายุในท้องถิ่นนี้
๒.เอกสารทางราชการที่เกี่ยวข้องกับวัดนี้
๓.หนังสืออ้างอิง
๔.หลักฐานจากศิลปวัตถุ ถาวรวัตถุของวัดช้างและวัดใกล้เคียง คาดว่าหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหากท่านผู้ใดเห็นว่าข้อความบางตอนคลาดเครื่อนต่อความจริง ขอได้โปรดทักท้วงเพื่อจะได้เป็นประโยชนในโอกาสต่อไป นายสรรเพชญ์ ชำวงษ์ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๔ วัดช้าง
ตั้งอยู่ที่สี่แยกถนนสายเอเชีย บางปะอิน-นครสวรรค์ ตัดกับถนนโพธิพระยา – ท่าเรื่อ ๕๕หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓ กิโลเมตร ห่างจากรุงเทพฯ ๑๐๓ กม. วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ โบราณที่สุดในบริเวณนี้ เพื่อให้มองเห็นภาพของวัดนี้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ จึงขอเล่าเรื่องเก่าๆ ที่เป็นอภินิหาร เกี่ยวกับวัดนี้ ดังนี้ เรื่องที่ ๑ พระพุทธรูปตบเด็กซุกซน หลวงพ่อสมภารองค์ปัจจุบันเล่าว่า พระสังกัจจายน์เป็นวิหารเก่าที่รื้อไปแล้วเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว (ขณะนี้ พ.ศ. ๒๕๓๕) มีเด็กซุกซนขึ้นไปเล่นบนตักพระพุทธรูป ถูกประพุทธรูปตบจนเหลือกลบปาก เรื่องที่ ๒ วิญญาณเจ้าที่เจ้าทางทวงทรายคืน เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๕ นายไม้ เฉยช้า อยู่ที่หน้าวัดนี้ เป็นคหบดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงงานพลาสติคได้เอาทรายที่วัดไป ๓ กระตั๋ง(ถังตักน้ำ) ตกกลางคืนมีวิญญาณเจ้าที่เจ้าทางไปทวงคืน ให้เอาทรายมาคืนวัดเสีย รุ่งขึ้นนายไม้ เฉยข้า ต้องรียนำทรายพร้อมกระตั๋งไปคืนที่วัด เรื่องนี้ถ้าผู้ใดสนใจ โปรดสอบถามเจ้าตัวได้ เรื่องที่ ๓ หลงพ่อไปหาครูฮะ ครู ฮะ เป็นครูสอนอยู่โรงเรียนประถมศึกษาแถบอำเภอมหาราช จังหวัดรพะนครศรีอยุธยา เดินทางด้วยเท้าผ่านหน้าวัดบ่อยครั้ง เช้าวันหนึ่งได้รีบรุดมาหาสมภารที่วัดช้าง ถามหาพระพุทธรูปบางองค์ สมภารจึงเอาให้ดู ครูฮะ ได้ตรวจทานดูจนแน่ใจแล้วจึงบอกว่า “องค์นี้แหละ” เมื่อคืนนี้ไปหาผมที่บ้าน ผมจำได้แม่น แล้วเล่ารายละเอียดให้ฟังว่าหลวงพ่อไปหาตนกันภรรยา ภายหลังครูฮะเดือดร้อนเรื่องเงินก็จะคิดถึงหลวงพ่อ องค์นี้และซื้อลอตเตอรี่ ถูกหลายครั้งแก้ปัญหาเรื่องการเงินไปได้ เรื่องที่ ๔ ผีอำ ที่ร้านค้าไม้หน้าวัด ติดกับถนนโพธิพระยา – ท่าเรือ มีลูกจ้างนอนเฝ้าร้านประจำ บอกว่าเวลานอน มักจะถูกผีอำเกือบทุกคืน มาเล่าให้หลวงพ่อสมภารฟัง หลวงพ่อสมภารจึงบอกว่า ตรงที่นอนอาจเป็นหลุมศพเก่าก็ได้ เมื่อกล่าวถึงหลุมศพ บริเวณที่เป้นสี่แยกที่นี่เคยเป็นป่าช้าเก่ามาช้านาน ไม่เคยทำบุญล้างป่าช้าเลย ตอนทำถนนได้เกรดดินซึ่งเป็นหลุมฝังศพเก่า พบกระดูกเก่า จำนวนามากและไม่ได้รวบรวมเอาไว้ทำบุญ คงฝังดินต่อไป เรื่องที่๕ กระเบื้องฝนยา วิหารเก่ามุงด้วยกระเบื้องดิน มีเสากระเบื้องตกลงมาแตก ชาวบ้านแถวนี้มักเอากระเบื้องไปฝนยา ถ้าฝนยากินรักษาไข้ ไข้จะหาย แต่ถ้าเอาไปฝนยาทาไก่ชน ไก่มักจะแพ้ เรื่องที่ ๖ เอาของวัดไปต้องเอาคืน มีเรื่องเล่าว่าชาวบ้านแถวนี้เอาอิฐเก่าๆ ไปใช้ที่บ้านบ้าง เอาเศษปูนบ้าง เอากระจกสำหรับปิดช่อฟ้าหน้าบรรณบ้าง เมื่อเอาไปที่บ้านแล้ว มักมีเจ้าที่เจ้าทางไปรบกวน จึงต้องเอามาคืนวัดทุกราย เรื่องที่ ๗ กิ่งโพธิ์ใช้ทำฟืนไม่ได้ ต้นโพธิที่วัดนี้มีอายุยืนมาก มีเรื่องเล่ากันว่า เคยมีชาวบ้านเอาไปทำฟืนหุงข้าว พอจุดไฟจะมีกลิ่นเหม็นเหมือนซากศพ เมื่อข้าวสุก เปิดดูข้าว ข้าจะเป็นสีดำ ต้องเอากิ่งโพธิมาคืนวัด เรื่องที่ ๘ ขโมยขุดพระ ในโบสถ์มีพระพุทธรูปสวยมาก มีขโมยลักขุดพระใต้ฐานพระพุทธรูป คนหนึ่งอยู่บ้านรอ ขุดพระในหลุมลูกนิมิต ในโบสถ์ ถูกคนร่างใหญ่ในโบสถ์จับโยนออกมาทางหน้าต่าง เรื่องที่ ๙ ขโมยขุดพระในวิหาร ผู้ที่ขโมยขุดพระในวิหาร บางรายรักษาพระพุทธรูปไว้ไม่ได้ ต้องเอามาคืนวัด เพราะถูกพระพุทธรูปรบกวนมากทางวัดจึงบรรจุไว้ในที่แห่งหนึ่งไม่เปิดเผย แต่บางองค์ก็ยังคงอยู่ที่บ้านของคหบดีผู้หนึ่ง ขโมยขุดพระชุดนี้มี ๔ คน มีอันเป็นไปต่างๆ ภายในอาการที่ไม่ปกติทุกคน เรื่องที่ ๑๐ ขโมยจะตัดเศียรพระ ขโมย ๒คน ไปตัดเศียรพระพุทธรูปที่วัดจันทร์มาได้แล้วจะกลับมาจะตัดเศียรพระพุทธรูปที่วัดช้าง ขณะจะตัดเศียรพระในโบสถ์ก็ถูกตีทั้ง ๒ คน ต่างก็โทษกัน แล้วตีกันจนเลือดกระเด็นมาติดหน้าต่างโบสถ์ ทั้งสองคนยังมีชีวิตอยู่และกลับตัวเป็นคนดีแล้ว เรื่องที่ ๑๑ หน่อไม้ขายไม่ออก ที่วัดนี้มีกอไผ่มาก หน่อไม้จึงมีมาก ผู้ที่ขโมยไปขายมักขายไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ ทั้งๆที่ไม่ทราบว่าเป็นหน่อไม้วัด เรื่องที่ ๑๒ เรื่องของพระภิกษุสี พระภิกษุสี รอดประยูร เป็นคนท้องที่นี้ อายุประมาณ ๗๐ ปีเล่าว่าเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๒๗ ท่านป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากอักเสบ และมีเนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ได้ผ่าตัดออก หลังจาพักฟื้นได้ประมาณ ๒-๓ เดือน ก็เป็นปกติ ภายหลังมีอาการที่บริเวณสะโพก หลังและขา โดยเฉพาะที่ขาไม่มีแรง เดินไม่สะดวก ทรมานอยู่ประมาณ ๑ เดือน คืนหนึ่ง เดือนหงายราวตีสอง นอนไม่หลับจึงลุกขึ้นเดินกระปรกกระเปรี้ยไปตามบริเวณวัด เดินไปใกล้ๆ ต้นไข่เน่าเห็นกระท่อมหลังหนึ่งตั้งอยู่ข้างหน้าจึงเดินเข้าไป เห็นยาย ผู้เป็นเจ้าของบ้านนั่งอยู่ที่หน้าชานบ้าน กำลังนั่งกินหมาก ยายคนนั้นไม่ได้สวมเสื้อพอเห็นพระภิกษุเดินมาจึงหยิบสะไบมาห่มพอปกปิดร่างกายได้ และได้นิมนต์พระให้ขึ้นไปนั่งแล้วถามว่ามีธุระอะไร หลวงน้าสีจึงเล่าให้ฟังว่า ปวดขา เดินไม่ไหว ทรมานเหลือเกิน ยายจึงเรียกตาที่กำลังขุนหมูอยู่ที่หลังบ้านว่า “ตาบุตร พระมาหา” ตาบุตรจึงหยุดขุนหมู แล้วเดินขึ้นมาไหว้พระและถามทุกข์สุขตาบุตร (ซึ่งเป็นคนญวณ และเป็นหมอโบราณ) จึงบอกว่าอาการที่ปวดนั้นรักษาได้ แล้วตาบุตรก็เอายาสมุนไพรที่มีอยู่มาผสมกัน โขลกแล้วเอามาพอกที่ขา บริเวณที่ปวด อาการที่ปวดก็ค่อยๆ หายไปคุยอยู่พักหนึ่งก็เดินขึ้นที่กุฎิ ก่อนจะขึ้นได้เอายาออกแล้วใส่ไว้ในกระเป๋าอังสะ ลาตายายทั้งสองกลับขึ้นกุฎิ พอถึงกุฎิล้วงกระเป๋าอังสะจะเอายามาพอกอีก ปรากฏว่ายานั้นได้หายไป สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก จนรุ่งเช้ามองไปดูกระท่อมไม่เห็นมีจึงเข้าจำวัดต่อ โดยคิดว่าตนเองอาจจะลืมไปเพราะไม่ได้ติดใจอะไรมาก หลังจากบิณฑบาตรอันเป็นกิจวัตรประจำแล้วได้ถามสมภารว่ากระท่อมหลังนั้นเป็นของใคร และเคยมีเรื่องราวอย่างนี้บ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ตาบุตรคนนี้ เป็นคนญวณ เรียกกันทั่วไปว่า “หมอบุตร” ตายไปหลายสิบปีแล้วส่วนภรรยาที่ชื่อเชย ตายไปนานแล้วเช่นเดียวกัน ตาบุตรเป็นหมอที่รักษาโรคเก่ง บ้านเดิมของเขาอยู่บริเวณนี้ ได้ถวายบ้านให้วัด กระท่อมหลังนี้สองตายายปลูกไว้อยู่กันสองคน ส่วนบ้านหลังใหญ่ ได้ให้ลูกๆ อยู่กันไปและได้ย้ายไปที่อื่นในเวลาต่อมา ส่วนบ้านถวายให้วัดหมด สำหรับพระภิกษุสี รอดประยูร ได้ใช้ยาสมุนไพรที่หมอบุตลบอกให้พอกขาต่อมา จนค่อยๆหายเป็นปกติตราบเท่าทุกวันนี้ ตัวยาดังกล่าวมีเถาวัลย์เปรียงสด หัวผักกาด โขลกให้เข้ากันกับน้ำครึ่ง เหล้าครึ่ง ใช้พอกหรือทาบริเวณที่ปวด เรื่องที่ ๑๓ เรื่องของหลวงพ่อเพ็ง สมภารเก่า สมภารเก่าที่มีบุญบารมีเท่าที่ทราบชื่อมี ๓ องค์คือ หลวงพ่อรอด หลวงพ่อพ่วง และหลวงพ่อเพ็ง หลวงพ่อเพ็ง เป็นพระภิกษุที่เรืองวิชา สมัยที่หลวงพ่อเป็นสมภารอยู่นั้นกล่าวกันว่านานมาแล้ว คงจะราวๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ระยะนั้นบริเวณนี้เป็นที่เลี้ยงช้างศึกสำหรับใช้ในสงคราม สภาพสังคมระยะนั้นคนทั่วไปจะบูชาวีรบุรุษที่เก่งกล้าทางอาคม ชายชาตรีที่สนใจเรื่องนี้จะร่ำเรียนไสยศาสตร์ อาคม ของขลัง และโดยเฉพาะผู้ชายทุกคนมักจะมีความรู้ประจำตัวเกี่ยวกับไสยศาสตร์ไม่มากก็น้อย ถือกันว่าเป็นของจำเป็น เช่นอย่างน้อยก็จะรู้วิธีเสกคาถาแป้งผัดหน้า คนเลี้ยงช้าง เป็นคนมีอาคม ครั้งหนึ่ง คนเลี้ยงช้างจะหุงข้าว ได้ใช้ขวานถากเสาศาลาทำฟืนหุงข้าว แต่ร่ายมนต์ให้คนเห็นว่ากำลังถากขาช้างทำฟืนหุงข้าว หลวงพ่อเพ็งซึ่งเป็นสมภาพเป็นผู้มีอาคมเช่นเดียวกันจึงมองเห็นว่าคนเลี้ยงช้างไม่ได้ถากขาข้าง แต่ถากเสาศาลา หลวงพ่อจึงต้องการสั่งสอนเสียบ้าง ให้คนเลี้ยงช้างรู้สำนึก ท่านนึ่งเอากะลาครอบเสีย เมื่อคนเลี้ยงช้างหุงข้าวแล้วจึงหาช้างไม่พบ เดินหาช้างจนอ่อนใจ ในที่สุดก็มาหาหลวงพ่อ ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร หลวงพ่อจึงบอกให้ทำเสาศาลาเสียใหม่จะหาช้างให้ คนเลี้ยงช้างจึงทำเสาศาลาใหม่ หลวงพ่อเพ็งจึงเอาช้างออกจากกะลาให้ เรื่องนี้เล่ากันต่อมา หลายชั่วอายุคน เรื่องอภินิหารของวัดช้าง จำนวน ๑๓ เรื่องที่กล่าวมาแล้ว วิเคราะห์ได้ ๒ – ๓ ประการ คือ
๑.วัดนี้สร้างมาเป็นเวลายาวนาน จึงมีเรื่องลึกลับเกิดขึ้นมาก สภาพสังคมของบริเวณนี้ ผู้เขียนเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ที่ตำบลบ้านรี อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่าทอง ตรงข้างกับวัดสุธาดล ตอนเป็นเด็กเคยท่องเที่ยวมาบริเวณนี้ โดยเที่ยวตามงานบ้าน งานวัด และหาผึ้ง เลี้ยงควาย ไปหาปลาตามหนองต่างๆ ทั่วไปบริเวณนี้ จึงพอจะนึกภาพออกว่าชุมชนบริเวณนี้เป็นอย่างไร ในระยะ พ.ศ.๒๔๙๐ สภาพสังคมนั้นเป็นแบบโบราณ ไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์ การเดินทางใช้เท้า อย่างดีก็ใช้เกวียน ล้อ เลื่อน เทียมด้วยควาย และวัว ชีวิตผูกพันกับครอบครัวและวัด จำนวนครัวเรือนมีไม่มาก หมู่บ้านตั้งอยู่ห่างๆ ฤดูฝนน้ำหลากใช้เรือพาย บ้านเมืองเริ่มมีเรือยนต์ใช้ราว พ.ศ.๒๔๙๗ – ๒๕๐๐ มีถนนราว พ.ศ.๒๕๑๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒ บ้านเมืองบริเวณนี้เริ่มเจริญอย่างรวดเร็ว มีรถยนต์มากขึ้น พลเมืองมากขึ้น ครอบครัวแต่ละครอบครัวขยายโตขึ้น มีบ้านแยกกันออกไปหลายหลังคาเรือน ผู้คนมากขึ้น ครอบครัวแต่ละครอบครัวขยายใหญ่โตขึ้น มีบ้านแยกกันออกไปมากขึ้น ผู้คนหนาแน่นขึ้น สภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นต้นมา สภาพบ้านเมืองตรงนี้อาจสันนิษฐานโดยแบ่งคาบเวลาโดยประมาณ ได้ 3 ระยะดังนี้ ก่อน พ.ศ.๒๓๑๐ - พ.ศ.๒๓๑๐ ยุคอยุธยา มีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่น เมื่อเสียกรุงฯ ผู้คนต่างหนีพม่าไป อยู่ที่อื่น พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๕๑๒ ยุครัตนโกสินทร์ คนอยู่กันแบบโบราณมีการตั้งถิ่นฐานกันน้อยกว่าอยุธยา พ.ศ. ๒๕๑๒ – ปัจจุบัน ยุคปัจจุบันมีความเจริญสมัยใหม่มาแทนที่
น่าสังเกตว่าสภาพสังคมก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๒ ถึงยุครัตนโกสินทร์ สภาพสังคมบริเวณนี้คล้ายกัน แต่ในยุคอยุธยา คงจะแตกต่างจากที่เห็นในปัจจุบันมาก สาเหตุเนื่องจากถูกพม่าทำลาย เช่น วัดโพธิ วัดจันทร์ และวัดดอน อาจจะเป็นที่วัดถนนอีกแห่งหนึ่งก็ได้เพราะมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า ระยะนั้นทหารพม่าเข้ามาทางตะวันตก (ด้านบึงใหญ่) เข้ามาเผาวัดโพธิ์ วัดจันทร์ ( แต่เลยเข้ามาไม่ถึงวัดช้าง เพราะมีคลองกั้นอยู่ และกุฎิ เสนาสนะไม่เป็นที่น่าสนใจ) ในขณะที่กวาดต้อนผู้คนอยู่ ได้จับเอาหญิงท้องแก่มา พนันกันว่าลูกในท้องเป็นหญิงหรือชาย แล้วฆ่าผ่าท้องพิสูจน์ แล้วจับเด็กโยนขึ้นไปสูงๆ แล้วเอาดาบรับ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นบริเวณนี้ด้วยหรือไม่ ไม่แน่นอน ไม่มีใครยืนยัน แต่เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมา และลิเกก็นำมาเป็นบทแสดงแทรกบางตอน สภาพบ้านเมืองบริเวณนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะหนาแน่นกว่านี้ เพราะมีวัดอยู่ใกล้ๆกันถึง ๕วัด โดยเฉพาะที่ วัดโพธิ วัดจันทร์ และวัดช้าง มีโบราณวัตถุที่ยืนยันได้ว่าเจริญรุ่งเรืองมาก่อน
ประวัติความเป็นมาของวัดช้าง 
วัดช้าง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๘๔๕ต่อมาทรุดโทรมมาก ชาวบ้านจึงช่วยกันบูรณะขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ หลักฐานการก่อสร้างและความเป็นมาในระยะแรกๆไม่ปรากฏชัดเจน แต่พบโบราณสถานของวัดที่เหลืออยู่ ในปัจจุบันบ้าง เช่น โบสถ์ ซากวิหาร และเจดีย์แบบลังกา ๒ องค์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างรุ่นเดียวกันกับวัดโพธิ(ปัจจุบันอยู่ใบริเวณโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม) วัดจันทร์ (อยู่ในบริเวณที่ตั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง) ทั้งสองวัดนี้เป็นวัดร้าง ที่วัดโพธิ ยังคงเหลือซากวิหารและเจดีย์ ซึ่งคณะครู อาจารย์ ชาวบ้าน และพระเถระรวมถึงคณะสงฆ์ ได้ช่วยรักษาไว้โดยบูรณะพระพุทธรูปเก่าๆ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ซากเจดีย์ยังคงเหลือแต่ฐานราก เป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงมุมบิ่นไปเล็กน้อย คล้ายกับเป็นย่อมุ่มไม้สิบสอง ถ้าเป็นเจดีย์แบบลังกาจริงก็คงเป็น รุ่นเดียวกับวัดช้าง แต่ที่ผิดกันคือวิหาร เป็นฐานโค้งสำเภารุ่นเดียวกันกับวัดมธุรสติยาราม กระเบื้องที่ใช้มุงวิหารทั้ง ๓ วัดนี้ เป็นกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา ชายคามีกระเบื้องเทพพนม ที่วักจันทร์และวัดโพธิพบว่ามีพระงั่งจำนวนมาก ภายหลังชาวบ้านเอาไปเสียเกือบหมดปัจจุบันยังคงมีเหลืออยู่บ้างแห่งละไม่กี่องค์ และชำรุด ทึ่น่าสนใจคือมีพระพุทธรูปทำด้วยหินทรายหลายองค์ แต่เศียรถูกขโมยตัดหมด เท่าที่เห็นอยู่เป็นองค์ ที่ต่อเศียรแล้ว โดยช่างฝีมือปัจจุบัน มีเรื่องเล่ากันว่าวัดจันทร์ วัดโพธิ และวัดช้าง สร้างโดยมอญ ๓ พี่น้อง มาตั้งหลักฐานทำมาหากินที่นี่ เป็นคนร่ำรวยเดินทางมาจากที่ใดไม่ทราบชัด แล้วสร้างวัดแข่งกัน ๓ วัด คือวัดโพธิ วัดจันทร์ และวัดช้าง (บางคนว่าวัดมธุรส) เรื่องเกี่ยวกับครอบครัวมอญนี้ นายมานิตย์ ขำวงษ์ เล่าว่า บริเวณหน้าบ้านนายยงสงฆ์ชาติ พบเศษปูนขาว เศษขี้เถ้า มากมายเมื่อเมื่อขุดลงไปในดินในคราวขุดหลุมเสาทำหลังคาโรงเป็ด และนายมานิตย์ ขำวงษ์ได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกบางส่วน สิ่งของที่เก็บไว้เป็นกระปุกเคลือบลายจีน สันนิษฐานว่าคนมอญที่ว่านี้อาจมีตัวจริงก็ได้ แต่ไม่ว่าจะตัวจริงหรือไม่ก็ตาม บริเวณนี้ก็จะต้องเป็นชุมชนที่อยู่กันหนาแน่นมาก่อนแน่นอน บริเวณที่เสนาสนะของวัดช้างนี้แต่เดิมอยุ่ทางใต้แล้วย้ายมาอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน (ราวพ.ศ.๒๔๙๐) บริเวณวัดแต่เติมมีพื้นที่กว้างขวางมาก เป็นป่าโดยทั่วไป มีผู้เล่าว่าวัดช้างกับวัดกุฎิเติมเป็นวัดเดียวกัน แต่เมื่อแม่น้ำประคำทองกว้างมากขึ้น จึงแบ่งวัดออกเป็น ๒ วัดอย่างชัดเจน เมื่อกล่าวถึงแม่น้ำประคำทองเคยพบหลักฐานว่าแม่น้ำสายนี้กว้างจริงๆ คุณหวล พินธุ์พันธุ์ กล่าวไว้ในหนังสืออ่างทองของเราว่า เคยเป็นแม่น้ำกว้าง ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีคำโคลงจากนิราศกรุงเก่า เขียนไว้ว่า
ลุถึงบางซื่อ คำทอง น้ำป่วนบึงเป็นฟอง คว่างคว้าง แลลาญลำจวนสยอง พึงพิศ เร่งรีบพายพลกว้าง แม่น้ำ นอนสินธุ์ บางคนกล่าวว่าวัดช้างน่าจะเป็นวัดเก่าแก่ต่อมาโตขึ้น พระภิกษุมากขึ้น เมื่อพระมากขึ้นปกครองไม่เข้มแข็งพระภิกษุอาจมีการขัดแย้ง จึงมีภิกษุบางรูปไปสร้างกุฎิอยู่ที่ป่าคนละฟากกับวัดช้าง ต่อมาเมื่อใครจะไปหาภิกษุที่ไปอยู่ในกุฎิใหม่มักจะบอกคนอื่นว่า “ไปวัดกุฎิ” ในที่สุดชื่อวัดกุฎิ ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และวัดทั้งสองก็แบ่งกันโดยชัดเจนในที่สุด
เนื่องจากวัดช้างมีบริเวณกว้างขวาง จึงมีพื้นที่ที่ไม่ได้ประโยชน์เป็นป่าและมีต้นไม้ใหญ่ๆ เช่นต้นยางสูงมาก ตอนเหนือและตอนใต้เป็นป่าทึบ ด้านตะวันออกเป็นป่าตาล ด้านตะวันตกเป็นป่าทึบ (สมัยที่ผู้เขียนเด็กเคยมาหาผึ้งที่ป่าตาล หลังวัดนี้) กล่าวกันว่าคลองหน้าวัดมีน้ำลึก เรือชะล่าขนาดใหญ่เข้ามาได้ และจมลงอยู่ในน้ำ ไม่มีผู้ใดสนใจ ต่อมาดินถมจนจมลงในดิน เมื่อสร้างถนน สายเอเชีย ได้เทคอนกรีตทับเป็นบริเวณกว้างการขุดค้นหาคงยากมาก
ตรงท่าน้ำจะมีศาลาท่าน้ำ เวลาพระบิณฑบาตจะลงเรือที่นี่ใกล้ๆ ศาลาจะมีส้วม(สมัยก่อนเรียก”ฐาน”)ของวัดที่ ๑ ที่ซึ่งสมัยก่อนไม่รู้จักส้วม จึงใช้วิถีถ่ายอุจจาระโดยไปทุ่งนาหรือในป่า เรียกกันว่า “ไปทุ่ง” แต่ที่วัดนี้ทำส้วมที่ท่าน้ำ เมื่อพูดถึงทำส้วมที่ท่าน้ำแล้วสมัยก่อนดูๆก็ไม่สกปรกเท่าไร เพราะผู้คนน้อย เมื่อถ่ายลงน้ำแล้วสมัยก่อนๆ ดูก็ไม่สกปรกเท่าไร เพราะผู้คนน้อย เมื่อถ่ายลงน้ำแล้วปลาจะกินหมดโดยเฉพาะปลาที่ชอบกินอุจจาระ คือ ปลาสังกะวาด แต่ถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้นจะเป็นอันตรายมากถึงกับตายกันเกือบยกบ้านยกเมือง ดังที่ทราบกันโดยทั่วไป โบสถ์
โบสถ์มี ๒ หลัง คือหลังเก่ากับหลังใหม่ หลังใหม่ที่เห็นอยู่ขณะนี้ยังไม่ได้ใช้เนื่องจากยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย สำหรับหลังเก่านั้นเป็นแบบที่คาดว่าสร้างสมัยอยุธยา ได้บูรณะมาแล้วหลายครั้ง ขนาดกว้าง ๑๓.๕๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้น ประณีตมาก บางองค์เป็นหินทราย ลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยลักษณะอิฐที่ใช้เป็นอิฐที่ทำกันขึ้นเองตามวิธีก่อสร้างสมัยนั้น ได้บูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ถ้านับตามหลักฐานที่ปรากฎในหนังสือประวัติวัดของกรมการศาสนา โบสถ์หลังนี้ก็มีอายุ ๑๓๑ ปี(ถ้าสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ ถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๓๔) แต่เมื่อดูอิฐและไม้แล้วก็ต้องมีอายุมากกว่านี้มาก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับโบสถ์ วัดมธุรส โบสถ์วัดสุธาดล โบสถ์วัดรุ้งแก้ว หลังนี้น่าจะเก่ากว่า จากคำบอกเล่าของนายสาด ผลโชค (เกิด พ.ศ.๒๔๔๗) อายุ ๘๗ ปี บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นโบสถ์หลังนี้อยู่ในสภาพนี้ คือลักษณะอิฐเป็นอย่างนี้ คือผุเกือบจะให้การไม่ได้อยู่แล้ว อิฐที่เห็นนี้ปัจจุบันนี้เก่าอย่างไร เมื่อ ๘๐ ปีที่แล้วก็เก่าอย่างนั้นโบสถ์ นี้บูรณะซ่อมแซมโดยนาย ผล มงคล และนาง บุญมี มงคล พร้อมด้วยคณะศรัทธาเมื่อพ.ศ.๒๔๙๒ จนถึงปัจจุบันได้ ๔๒ ปี แต่ทรุดโทรมจนมองไม่ออกว่ามีการบูรณะ ปัจจุบันเหลือร่องรอยของกความงามเก่าๆ อยู่บ้าง กล่าวคือประตูโบสถ์เคยมีร่องรอยลายทองงรดน้ำ เพราะยังมีรอยรักสีดำอยู่ อกเลาเป็นลายไทย หน้าต่างทาสี และวงกบหน้าต่างด้านเหนือจารึกนาม นายแรม นางใย ขำพักตร์ ที่พื้นโบสถ์มีจารึกข้อความโดยครูบุญมี – นางระเบียบ พูลสมบัติ จารึกว่า “คนดี ผีคุ้มครอง บุญมี – ระเบียบ พูลสมบัติ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๒” ด้านหน้าโบสถ์ มีจารึกไว้ว่า “บูรณะ เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๒” เสมา
ภายในกำแพงแก้วมีเสมา ใบเสมาทำด้วยหินทรายแกะสลัก รูปทรงสวยงามอ่อนช้อย ลงรักปิดทอง เหมือนใบเสมาที่วัดกษัตราธิราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำแพงแก้ว
กำแพงแก้วของโบสถ์ ก่อด้วยอิฐเต็มแผ่น มีช่องลมมีประตูเข้าออก ๔ ประตู ด้านหลัง ๑ ประตู ด้านหน้า๑ ประตู ด้านข้างซ้าย-ขวา ข้างละ๑ ประตู วิหาร
ขณะนี้เหลือแต่ซาก และไดเทคานคอดินคอนกรีตไว้เพื่อบูรณะใหม่ สาเหตุเนื่องจากเก่าแก่มาก และได้พังลงมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๐ แต่เดิมเป็นวิหารสายงาม มีเสากลมภายใน ๘ ต้นมีบัวหัวเสา ที่ผนังมีภาพเขียนสวยงาม บนแท่นพระประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะ สุโขทัย เศียรถูกขโมยตัดหมด มีองค์ที่เศียรเก่าอยู่ ๑ องค์ ปัจจุบันเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่งที่ปลอดภัยแต่แท่นชำรุดมาก เครื่องบนหลังคาที่รื้อมาได้ประกอบวางไว้เพื่อนำขึ้นไปกระกอบใหม่เมื่อสร้างส่วนอื่นๆ เสร็จแล้ว วิหารนี้แต่เดิมมุงกระเบื้องกาบกล้วย หรือกระเบื้องกาบู เป็นกระเบื้องรุ่นเดียวกับวิหารวัดโพธิ์และวิหารวัดจันทร์ เสาวิหารที่พังลงมาปัจจุบันได้นำไปปูพื้นวิหารพระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นอิฐรูปสามเหลี่ยมฐานโค้ง ทางวัดจะนำส่วนที่เหลือเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ต่อไป วิหารพระสังกัจจายน์
พระภิกษุดา ได้มีจิตศรัทธาบูรณวัดหลายส่วน ได้เป็นผู้นำในการก่อสร้างวิหารพระสังกัจจายน์ขึ้นที่ข้างต้นโพธิ์ ได้รับการสนับสนุนจากญาติโยมอย่างดี ได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๖ โดยเฉพาะ คุณสุพิศ สุขสุวรรณ เจ้าของร้านค้าข้าว ได้บริจาคเป็นเงิน ๙,๐๐๐ บาท เป็นผู้บริจาครายใหญ่ มีผู้ศรัทธากราบไหว้เป็นอันมาก ถังน้ำยาว
ถังน้ำหลังนี้ เป็นถังน้ำเก็บน้ำฝน ใช้ดื่มกิน แต่เดิมตั้งอยู่ระหว่างศาลาการเปรียญกับกุฎิหลังเก่า เมื่อย้ายศาลาและกุฎิไปจึงเหลือแต่ถังน้ำตั้งอยู่กลางสนาม ผู้ที่เป็นหัวแรงในการสร้างคือ นาง ใย ขำพักตร์ ซึ่งจะจารึกด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ที่ ด้านข้างของถังน้ำว่า “นางใย ขำพักตร์ และคณะ พ.ศ.๒๔๘๐” เจดีย์แบบลังกา
เจดีย์แบบลังกามี ๒ องค์ อยู่หลังโบสถ์ ๑ องค์นาย สาด ผลโชค กล่าวว่า เจดีย์องค์นี้สร้างทีหลังองค์ที่อยู่ หลังวิหาร คือองค์นี้สร้างหลังจากที่ท่านเกิดแล้ว แต่จำไม่ได้ว่า ผู้สร้างเป็นใคร ส่วนเจดีย์ที่อยู่หลังวิหารได้สร้างมานานแล้วและได้บูรณะหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายบูรณะราวๆ พ.ศ.๒๔๘๐ ขณะนี้เจดีย์องค์นี้เอียงเล็กน้อย เมื่อกล่าวถึงเจดีย์ ๒ องค์นี้มีผู้วิจารณ์ว่ามีลักษณะไม่ถูกต้องตามคติ เพราะไม่มีบัลลังก์อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แต่ข้าพเจ้า(ผู้เขียน) เห็นว่าเราไม่มองถึงความถูกต้องทางศิลปะ แต่เรามองถึงอายุและความเก่าแก่ของวัดนี้มากกว่าอีกประการหนึ่งก็คือลักษณะเจดีที่ว่านี้ เป็นเจดีย์ที่อาจจะสร้างขึ้นมาโดยช่างท้องถิ่น ที่ไม่มีความรู้ทางศิลปะ เป็นแค่เพียงความศรัทธาเท่านั้น ช้าง
ช้างที่ปั้นด้วยปูนซีเมนต์ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ที่หน้าวัด เท่าที่เห็นอยู่นั้น สร้างขึ้นโดยมีพระภิกษุดำ (ไม่ทราบนามสกุล)ซึ่งบวชอยู่ที่วัดนี้ เป็นหัวหน้า ได้บอกบุญจากญาติพี่น้องและผู้มีจิตศรัทธาในละแวกนี้ สร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวัดนี้เมื่อราว พ.ศ.๒๕๒๕ วิหารรูปปั้นสมภารเก่า ทางวัดได้สร้างวิหารเพ่อประดิษฐานรูปปั้นสมภารเก่า ทั้ง ๓ รูปที่มีชื่อเสียง คือหลวงพ่อรอด หลวงพ่อพ่วง และหลวงพ่อเพ็ง วิหารนี้สร้างขึ้นมาเรื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๕ หอระฆัง
หอระฆังสร้างขึ้นมาเมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๕ สาเหตุที่ได้สร้างขึ้นมาก็เพราะในขณะนั้นบริเวณสี่แยกเกิดอุบัติเหตุรถชนกันบ่อยครั้งมาก ทำให้มีคนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก และบริเวณนั้นแต่เดิมเป็นป่าช้าเก่า ชาวบ้านได้ร่วมกันทำบุญที่สี่แยกนั้นและเรี่ยไรกันเพื่อจะได้เงินมาสร้างศาลาถาวรให้แก่ดวงวิญญาณ ที่เร่ร่อนเหล่านี้ และได้มอบหมายให้นายอำเภอเมืองอ่างทองในขณะนั้นมีหน้าที่ติดต่อกับกรมทางหลวงเพื่อขอสถานที่สร้างศาล หรืออาจจะขอบริจาคผู้มีจิตศรัทธาก็ได้ แต่ก็ไม่สามารถจะหาได้เนื่องจากขัดต่อระเบียบแบบแผนของทางราชการ ในที่สุดจึงตกลงกันว่าศาลที่จะต้องสร้างต้องทำชั่วคราว และเงินที่หามาได้ ได้นำมาสร้างหอระฆังที่วัดยังขาดอยู่ เมรุ
แต่เดิม วัดช้างไม่มีเมรุและโกดังเก็บศพ เพราะว่าชาวบ้านจะใช้ป่าช้า อย่างดีก็ทำเป็นโรงเก็บมีเสาสี่เสา ยกพื้นสูงเพื่อไม่ให้ลูกหีบผุ หมู่บ้านใกล้เคียงน้ำจะท่วม เมื่อถึงฤดูน้ำและส่วนใหญ่จะเก็บศพข้ามปี ชาวบ้านน้ำผึ้งจะมาฝังทางทิศใต้ของวัด เรียกว่าป่าช้าบ้านน้ำผึ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ เป็นป่าช้าบ้านนา ทางตะวันออกเป็นป่าช้าบ้านรี เมื่อวัดเจริญขึ้น ท้องถิ่นนี้ดีขึ้น มีถนนสายเอเชียตัดผ่าน ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างเมรุเผาศพใช้เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๘ ป่าช้าจึงหมดไป ศาลาริมถนน
ศาลาที่ริมถนนข้างทางเข้า มีผู้บริจาคสร้างถวาย ผู้สร้างได้จารึกชื่อไว้บนหลังคาว่า นายหนู ธูปทอง นายฉลวย นางนิ่ม น้อยคล้าย อุทิศส่วนกุศลให้ พ่อพลัด ธูปทอง บุพการีและญาติ สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ อุโบสถ
คณะทายกทายิกาได้มองเห็นว่าอุโบสถหลังเก่าชำรุดและโอกาสที่จะบูรณะคงยาก ไม่เหมาะที่จะทำสังฆกรรม จึงปรึกษาที่จะสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น บังเอิญว่ามีท่านผู้ใจบุญท่านหนึ่งคือพ.อ.พิเศษ พิศิษฐ์ คชาชีวะ และคุณกานดา คชาชีวะ ได้เดินทางมาทางนี้ พบว่าวัดช้างเป็นวัดที่มีชื่อคล้ายนามสกุลของท่าน จึงแวะเข้าไปนมัสการสมภาร ได้ปรึกษาหารือเรื่องจะสร้างโบสถ์ ในที่สุดท่านก็เป็นภาระบริจาคสร้างโบสถ์หลังใหม่นี้เกือบทั้งหมด เป็นเงินประมาณ ๑๒ ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่าวัดนี้ไม่เคยออกเรี่ยไรชาวบ้านให้สร้างเสนาสนะสงฆ์เลย ผู้มีจิตศรัทธามาบริจาคทำบุญเอง
ที่มา ข้อมูลความเป็นมาของประวัติวัดช้าง บุคคล ๑.พระอาจารย์ช้อย วิสารโร อดีตเจ้าอาวาส ๒. พระอาจารย์สุพจน์ ช่วงฉ่ำ รองเจ้าอาวาส (ปัจจุบันพระครูสุวัฒน์ วรกิจ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช้าง) ๓. นายไม้ เฉยช้า หมู่ ๔ ต.บ้านอิฐ อ.เมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ๔. นายมานิตย์ ขำวงษ์ หมู่ ๔ ต.บ้านอิฐ อ.เมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ๕. นายยงค์ สงชาติ หมู่ ๔ ต.บ้านอิฐ อ.เมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ๖. พระภิกษุสี รอดประยูร ๗. เจ้าอาวาสวัดมธุรสติยาราม ๘. นายน้ำหวาน ชื่นอารมณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ๙. นายพรชัย ศรีสุวรรณ โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม ผู้วิเคราะห์เจดีย์ด้านศิลปะ เอกสาร ๑. ประวัติวัดในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๔ กองศาสนสถาน กรมการศาสนา ๒. อ่างทองของเรา หวล พินธุ์พันธุ์