วันนี้

พุทธประวัติและรวมภาพพุทธประวัติ


พุทธประวัติและรวมภาพพุทธประวัติ
เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็นสันตุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต
เมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุม ปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า 
ต่างก็เล็งว่า พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมา
โปรดสัตวโลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติ
อันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า

ก่อนที่พระโพธิสัตว์อันสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต จะได้ทรงตรัสรู้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดชาวโลกนั้น พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ 
ประการ อันได้แก่


๑. พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ ความอดทนสูงสุด
๒. พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยะบารมี คือ ความพากเพียรสูงสุด
๓. พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ ความเมตตาสูงสุด
๔. พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความมีจิตที่แน่วแน่สมบูรณ์
๕. พระมโหสถ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความมีปัญญาสูงสุด
๖. พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี คือ ความมีศีลที่สมบูรณ์สูงสุด
๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดกลั้นสูงสุด
๘. พระนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การมีอุเบกขาสูงสุด
๙. พระวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี คือ ความมีสัจจะสูงสุด
๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การรู้จักการให้ทานสูงสุด

พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต

ซึ่งในคืนวันเพ็ญเดือน ๘ พระนางสิริมหามายาผู้จะได้เป็นพระพุทธมารดา ทรงอธิษฐานสมาทานอุโบสถศีล ในยามใกล้รุ่งได้ทรงสุบินนิมมิตว่า ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่ได้มายกพระองค์พร้อมกับพระแท่นที่บรรทมทูลเชิญไปยังป่า หิมพานต์ เหล่าเทพธิดาทั้ง ๔ ได้ทูลเชิญพระนางเสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์ แล้วทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยของหอม ทรงประดับบุปผชาติอันเป็นทิพย์ แล้วเชิญเสด็จเข้าที่บรรทมบนพระแท่นในวิมานทอง ในภูเขาเงิน ทรงบ่ายพระเศียรไปยังทิศตะวันออก ขณะนั้นมีพระยาช้างเผือกชูงวงจับดอกบัวขาวที่เพิ่งแย้มบานกลิ่นจากภูเขาทอง ด้านทิศตะวันออก ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน กระทำประทักษิณาวัตรเวียนพระแท่น ๓ รอบ

ซึ่งในวันรุ่งขึ้นพระนางได้ทรงกราบทูลถึงพระสุบินนิมิตนั้นแด่พระสวามี พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงมีรับสั่งให้พราหมณ์ประจำราชสำนักทำนายนิมิตฝันนั้น เหล่าพราหมณ์ได้พากันทำนายว่า

“พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์พระองค์จักมีพระราชโอรส
พระโอรสนั้นถ้าอยู่ครองราชก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
แต่ถ้าเสด็จออกบวช จักได้เป็นพระพุทธเจ้า”

เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น พระครรภ์บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนด้วยครรภ์มลทินและประทับนั่งสมาธิอยู่ในพระ ครรภ์ ไม่คุดคู้เหมือนเด็กทารกอื่น พระราชมารดาทรงทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ ได้ถวายการอารักขาเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุปัทวันตรายแก่พระโพธิสัตว์และพระ ราชมารดา

เจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติ ณ ป่าลุมพินีวัน " ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า

"ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ"

แปลว่า: "ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ"

เมื่อประสูติพระราชกุมารก็อยู่ในอิริยาบถยืนหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เสด็จย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ 7 ดอก แล้วทรงกล่าววาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่มิได้มี"

ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะ ทราบข่าวพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรสระหว่างทางที่สวนลุพินี แล้วรับสั่งให้เสด็จกลับเข้าเมือง แล้วผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ "อสิตดาบส" หรือบางแห่งเรียกว่า "กาฬเทวินดาบส" ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างเขาหิมพานต์ หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้ และเป็นผู้คุ้นเคยด้วย
เมื่อท่านทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรสใหม่จึงออกจากอาศรมเชิงเขา เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยม ก็ทรงดีพระทัยนักหนา จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะ แล้วทรงอุ้มพระราชโอรสมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส
พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธธัตถะ ก็ทำกิริยาผิดวิสัยสมณะ ๓ อย่าง คือ ยิ้มหรือแย้ม หรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หัวเราะแล้วร้องไห้ แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ
ท่านยิ้มเพราะเห็นพระ ลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรามหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่าคนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้บวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่า เจ้าชายราชกุมารนี้จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้ เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้วเลยเสียใจว่ามีบุญน้อย ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้ ฝ่ายเจ้านายในราชตะกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ ตระกูลละองค์ๆ ทุกตระกูล

ภายหลังเจ้าชายราชกุมารผู้พระราชโอรสประสูติได้ ๕ วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระราช
บิดาได้โปรดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้เข้าประชุมมีพระญาติวงศ์ ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา มุข
อำมาตย์ ราชมนตรี และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท เพื่อทำพิธีมงคลในการนี้คือพราหมณ์ มีทั้งหมด ๑๐๘
แต่พราหณ์ผู้ทำหน้าที่นี้จริงๆ มีเพียง ๘ นอกนั้นมาในฐานะคล้ายพระอันดับ พราหมณ์ทั้ง ๘ มีรายนาม
ดังนี้ คือ
๑. รามพราหมณ์ ๕. โภชพราหมณ์
๒. ลักษณพราหมณ์ ๖. สุทัตตพราหมณ์
๓. อัญญพราหมณ์ ๗. สุยามพราหมณ์
๔. ธุชพราหมณ์ ๘. โกณทัญญพราหมณ์

ที่ประชุมลงมติขนานพระนามพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายสิทธัตถะ' ซึ่งเป็นมงคลนาม มี
ความหมายสองนัย นัยหนึ่งหมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จสิ่งนั้นดังพระประสงค์ อีกนัย
หนึ่งหมายความว่าพระโอรสพระองค์แรกสมดังที่พระราชบิดาทรงปรารถนา แปลให้เป็นเข้าสำนวณไทย
ในภาษาสามัญก็ว่า ได้ลูกชายคนแรกสมตามที่ต้องการ
พระนามนี้ คนอินเดียทั่วไปในสมัยนั้นไม่นิยมเรียก แต่นิยมเรียกพระโคตรแทน 'พระโคตร' 
ตรงกับภาษาไทยทุกวันนี้ว่า 'นามสกุล' คนจึงนิยมเรียกพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายโคตมะ' หรือ 'โคดม'
พร้อมกันนี้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็พยากรณ์พระลักษณะ คำพยากรณ์แตกความเห็นเห็นเป็น ๒
กลุ่ม พราหมณ์ ๗ คน ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงหมายเลข ๗ ตามรายนามที่ระบุไว้แล้ว มีความเห็นเป็นเงื่อน
ไขในคำพยากรณ์ ถ้าเจ้าชายนี้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ จักได้ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรม
เดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก
มีพราหมณ์หนุ่มอายุเยาว์คนเดียวที่พยากรณ์เป็นมติเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขว่า พระราชกุมารนี้
จักเสด็จออกทรงผนวช และได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน พราหมณ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์
ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้า และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกที่รู้จักกันในนามว่า 'พระอัญญาโกณ
ทัญญะ' นั่นเอง ที่เหลืออีก ๗ ไม่ได้ตามเสด็จออกบวช เพราะชรามาก อยู่ไม่ทันสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จ
ออกทรงผนวช


เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะมีพระชมมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส สระโบกขรณี
คือ สระที่ปลูกดอกบัวประดับในสระ แล้วพระราชทานเครื่องทรงคือ จันทน์สำหรับทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าทรงพระพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อมาจากเมืองกาสีทั้งนั้น ตอนที่เห็นภาพในนี้ เป็นตอนที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ใต้ร่มไม้ ที่ภาษาปฐมสมโพธิเรียกว่า "ชมพูพฤกษ์" ซึ่งคนไทยเราเรียกต้นหว้านั่นเอง เหตุที่เจ้าชายมาประทับอยู่ใต้ต้นหว้าแห่งนี้ก็เพราะ พระราชบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณี พระราชบิดา ซึ่งเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง หรือจะเรียกว่าทรงเป็นพระยาแรกนาเสียเองก็ได้ ได้โปรดให้เชิญเสด็จเจ้าชายไปด้วย ภาพที่เห็นนี้อีกเหมือนกันจะเห็นเจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ลำพังพระองค์ เดียว ไม่เห็นพระสหายพระพี่เลี้ยงและมหาดเล็กอยู่เฝ้าเลย เพราะทั้งหมดไปชมพระราชพิธีแรกนากัน เจ้าชายเสด็จอยู่ลำพังพระองค์ภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรรณนาไว้ว่า "กอปรด้วยสาขาแลใบ" อันมีพรรณอันเขียวประหนึ่งอิทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน...." พระทัยอันบริสุทธิ์ และอย่างวิสัยผู้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็นสมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า "ปฐมฌาน" แรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตามดวงตะวันก็เกิด อัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า "กาลเมื่อวัน ประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปฏิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้อนบนชฏาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติวันทนาการคำรบสอง" พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก เมื่อภายหลังประสูติที่
ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือ ครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเติบโตขึ้น ทรงได้รับการศึกษาเล่าเรียนโดยเชิญผู้รู้เป็นพราหมณ์ผู้เฒ่า ชื่อ วิศวามิตร มาสอนในวัง วิชาที่สอนก็เป็นไปตามที่สอนกันในสมัยนั้น คือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ* มีการรบ เป็นต้น



เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้รับการศึกษาเพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกแขนง ทั้งทางยุทธวิธีทหาร การปกครอง และการศาสนา ทรงได้ผ่านการชนะเลิศทุกครั้งที่มีการประลองฝีมือต่อสู้ ป้องกันตัว และทดสอบวิชาความรู้ ทุกประเภท จนพระเกียรติเลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป



*ศิลปศาสตร์ ๑๘ หมายถึงวิชาความรู้ต่างๆ ซึ่งได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เรียกกว่า ศิลปศาสตร์ ได้แก่ ่



๑. ความรู้ทั่วไป (สูติ)



๒. ความรู้กฏธรรมเนียม (สัมมติ)


๓. คำนวณ (สังขยา)

๔. การช่างการยนตร์ (โยคยันตร์)

๕. นิติศาสตร์ (นีติ)

๖. ความรู้การอันให้เกิดมงคล (วิเสสิกา)

๗. วิชาร้องรำ (คันธัพพา)

๘. วิชาบริหารร่างกาย (คณิกา)

๙. วิชายิงธนู (ธนุพเพธา)

๑๐. โบราณคดี (ปุราณา)

๑๑. วิชาแพทย์ (ติกิจฉา

๑๒. ตำนานหรือประวัติศาสตร์ (อิติหาสา) )

๑๓. ดาราศาตร์ (โชติ)

๑๔. ตำราพิชัยสงคราม (มายา)

๑๕. การประพันธ์ (ฉันทสา)

๑๖. วิชาพูด (เกตุ)

๑๗. วิชามนต์ (มันตา)

๑๘. วิชาไวยากรณ์ (สัททา)
เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ได้ทรงทำการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพา ยโสธรา ราชธิดาพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งกรุงเทวทหะนคร
จากการทำนายของโหร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเกรงว่า สิทธัตถะราชกุมารจะออกบวชเสีย จึงตรัสให้ สร้างปราสาทถวายสามฤดูคือสำหรับประทับในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน แล้วให้บำรุงบำเรอด้วยความสุข ทางกามคุณทุกวิถีทาง ในปราสาทนั้นเต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม รวมถึงสาวใช้รูปร่างดี ชำนาญในการฟ้อนรำ ตามแบบอินเดีย รอบๆ ปราสาทมีสวน มีสระ มีนก มีปลา และมีอะไรๆ ที่น่ารื่นรมย์เพื่อความเพลิดเพลินของเจ้าชาย แล้วก็ในปราสาทนั้นมีแต่สตรีทั้งนั้น คอยเอาใจใส่รับใช้ใกล้ชิด ช่วยเหลือทุกสิ่งทุกประการไม่ให้เจ้าชายเดือดร้อน

เหตุที่พระเจ้าสุทโทนะผู้เป็นบิดาทำเช่นนั้น ก็เพื่อผูกมัดเจ้าชาย ไม่ให้คิดถึงเรื่องการบวช แล้วไม่ให้ออก ไปไหนเสียด้วย ถ้าจะไปไหน ต้องได้รับอนุญาตจากพระราชบิดา ในพระทัยของพระราชบิดาก็ไม่อยากให้ออกไปไหน กลัวว่าจะไปคบหาสมาคมกับคนที่เป็นนักบวช ในสมัยนั้น จิตใจจะโน้มเอียงไปในทางเป็นฤาษีชีไพร ท่านไม่ต้องการ เพราะว่ามีลูกชายเพียงผู้เดียว อยากจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ถ้าออกบวชเสียแล้วก็หมดหวัง

แต่ว่าความต้องการของพระเจ้าสุทโธทนะหาสำเร็จไม่ เพราะเจ้าชายแม้ไม่ได้ไปไหนก็จริง แต่ว่าชอบ ไปนั่งคนเดียวในป่า ในสวนหลังปราสาท นั่งคนเดียวก็นั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ เหม่อลอยไปในเวิ้งว้างของสถานที่ คือเป็นคนชอบคิดนั่นเอง ไปนั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ ดูนกดูสัตว์ในบริเวณนั้นว่ามันมีสภาพเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านั้น เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนจิตใจให้พระองค์เบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ในโลก คิดแต่ว่าจะแสวงหาธรรมะท่าเดียว แต่ก็ยังออกไปไหนไม่ได้
ต่อมาก็ได้ทรงขออนุญาตพระบิดา เพื่อออกไปชมบ้านชมเมืองบ้าง พระบิดาก็ได้สั่งให้ตกแต่งบ้านเมือง ให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูเช่น คนแก่ คนเจ็บ คนไข้ คนรูปร่างไม่สมบูรณ์ อะไรนั้น เขาไม่ให้ออกมาเดิน บนถนน กลัวเจ้าชายจะเห็นเข้า กีดกันทุกอย่างไม่ให้พบสิ่งซึ่งทำให้เบื่อหน่าย ให้เห็นแต่สิ่งที่สบายตา ฟังเสียงสบายหู พบคนที่สบายใจ กีดกันอย่างนั้นเพื่อให้ได้อยู่วังครองเมือง

ในการเสด็จชมเมืองวันแรก เจ้าชายได้เห็นคนแก่ร่างกายคู้ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถือไม้เท้า เดินกระง่องกระแง่งผ่านมา พระองค์ก็หยุดรถแล้วก็ถามฉันนะว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ฉันนะคนขับรถบอกว่า นี่แหละพระเจ้าค่ะ คนแก่ อายุมากๆ ไปมันก็ต้องแก่อย่างนี้

ท่านก็ถามต่อไปว่าพระบิดาของเราจะแก่อย่างนี้ไหม นายฉันนะก็ตอบอีกว่า ก็เป็นอย่างนี้ทุกคน ไม่มีใครหลีกพ้นความแก่ไปได้ ภาพที่เห็นทำให้สลดพระทัยในเรื่องความแก่แล้วก็สงสารคนแก่ที่ลำบากอย่างนั้น

วันที่สองได้เดินทางออกไปชมเมืองอีก พบคนเจ็บร้องครวญครางอยู่ข้างถนน พระองค์ได้ลงจากรถ เข้าไปใกล้แล้วถามว่าเป็นอะไร เขาคนนั้นบอกกับพระองค์ว่า ไม่สบาย เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ พระองค์ก็สงสาร คนเหล่านั้นว่าทำอย่างไรจะช่วยคนเจ็บเหล่านี้ได้

วันที่สามออกไปเจอคนตาย กำลังหามไปป่าช้า ญาติเดินร้องไห้ครวญคราง สยายผมตีอกชกหัว ไปข้างหลัง เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ทำให้พระองค์คิดว่าชีวิตของคนเรามันก็เท่านี้ อยู่ไปสนุกไปมันก็ตามเท่านั้นเอง ตายแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร ไปแต่เสื้อผ้าหุ้มกายนิดหน่อย เอาไปเผา กลายเป็นขี้เถ้า แล้วเราจะมัวเพลิดเพลินอะไร กันหนักหนา แต่ยังไม่คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

ส่วนวันที่สี่ก็เสด็จออกชมเมืองอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พระองค์ไปเห็นนักบวชผู้มีอาการสงบเรียบร้อย หน้าตาเปล่งปลั่ง มีอารมณ์ดี ก็เห็นว่า สาธุโขปัพพัชชา บวชดี ท่านพูดกับตัวเองว่า บวชเข้าทีแน่ สาธุโขปัพพัชชา -บวชนี่ดีแน่ แล้วก็เลยไปพักอยู่ในสวน นั่งชมปลาชมนกอะไรไปตามเรื่อง

พระองค์ได้เสด็จประพาสรอบพระนคร ๔ วาระด้วยกัน ได้ทรงเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทำให้สังเวชสลดพระทัยและเบื่อหน่ายในสังสารทุกข์ ทรงเห็นว่าการออกบรรพชาเป็นทางดีที่สุด ที่อาจทำให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

การที่ได้เห็นนักบวชก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า การบวชจะช่วยให้มีเวลาว่างเป็นของตัว จะได้คิดค้นอะไรได้มาก เพราะฉะนั้นการเห็นเทวทูตสี่จึงเป็นเครื่องเตือนใจ
ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวฑูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะ
เสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือทรงมีพระโอรสและมี
ความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง

ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ตอนหนึ่งว่า "...วันนั้น สมเด็จ
พระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐ ปราศจาก
อาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลาย อันเป็นที่เจริญหฤทัยเห็นปานดังนั้น ก็หยั่งลง
สู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง.." มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง

ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ "ตามด้วยน้ำมันหอม
ส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง..." บรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทม
หลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี

มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง เจ้าชายตื่นบรรทมแล้วก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอน
หลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ว่า "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) อันหลั่ง
ไหล นางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอ
เพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถา
สำแดงที่สัมพาธฐานให้ปรากฏ..."

เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับ 
แม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรง
เห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาดปราศจากอาการสำรวมคือ นาง
บำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพังพระองค์ว่า "อาตมาจะออกสู่
มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท และตรัสเรียกมหาดเล็กเฝ้าพระ
ทวารว่า "ใครอยู่ที่นั่น"
วันหนึ่งเสด็จออกจากปราสาทไปพักในสวน พอดีพระนางพิมพ์พาประสูติพระโอรส อำมาตย์ก็ไปกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า บัดนี้พระนางพิมพาได้ประสูติพระโอรสแล้ว เพราะองค์ก็อุทาน "ราหุลํ ชาตํ" แปลว่า "บ่วงเกิดแล้ว"

อำมาตย์ผู้นั้นได้ยินก็นึกว่า เจ้าชายสิทธัตถะตั้งชื่อลูกชายว่า "ราหุล" เลยกลับไปทูลพระเจ้าสุทโธทนะว่า มกุฎราชกุมารพอพระทัยในการที่มีลูก ตั้งชื่อให้แล้วว่า "ราหุล"

ในความจริงนั้นไม่ใช่ พระองค์บ่นออกมาด้วยความรู้สึกในใจว่าบ่วงเกิดแล้ว "ราหุล" แปลว่า "บ่วง" มนุษย์เรานี่มีบ่วงอยู่ ๓ บ่วง

มีบุตร เรียกว่า บ่วงพันคอ

มีภรรยา เรียกว่า บ่วงผูกมือ

มีทรัพย์ เรียกกว่า บ่วงผูกเท้า

ถ้าตัด ๓ บ่วงนี้ได้ก็พ้นทุกข์ แต่ถ้ายังมี ๓ บ่วงนี้อยู่ ก็ยังจะต้องวุ่นวายทั้งหญิงและชายเหมือนกัน ถ้าเป็นบ่วงผูกมือของหญิง ก็คือ "สามี" ถ้าเป็นบ่วงผูกมือของชาย ก็คือ "ภรรยา" บ่วงทั้ง ๓ ในที่นี้ขยายความออกให้ชัดได้ว่า ถ้าคนมีบุตรมักกลืนอะไรไม่ลงเพราะคิดถึงลูก ถ้ามีโอกาสได้กินผลไม้อร่อย ต้องรีบเอาไปฝากลูก เท่ากับมีบ่วงพันอยู่ที่คอ คอยรัดคอให้แคบตลอดเวลา ส่วนภรรยาก็จูงมือไป(ผูกมือ) ทรัพย์ก็ผูกเท้าไว้ไม่ให้ไปไหนได้ ทำให้เป็นห่วงบ้าน ห่วงนั่น ห่วงนี่ พระองค์จึงถือว่าบ่วงเกิดแล้ว คือเกิดจากบุตรที่เกิดขึ้นแล้วนั่นเอง

ก่อนที่พระองค์จะตัดสินใจแน่วแน่เพื่อออกบวช พระองค์เสด็จเข้าไปในห้องพระนางพิมพา ได้เห็นนางกอดลูกน้อยราหุลอยู่ นึกในใจว่า ควรบอกสักหน่อยดีหรือว่าอุ้มลูกชายสักหน่อย แล้วจึงค่อยไปดี อีกใจหนึ่งบอกว่า อย่านะ ขืนปลุกก็ไม่ได้ไปเด็ดขาด นางจะกอดแข้งกอดขาไว้จะไปได้อย่างไร ก็เลยไม่ปลุกไปยืนดูใกล้ๆ ดูด้วยความรัก

พระองค์ไม่ใช่คนใจหิน ย่อมมีอาลัยอาวรณ์เป็นธรรมดา ดูแล้วถอยออกมาแล้วกลับเข้าไปใหม่ ทำท่าจะจับจะปลุกให้ลุกขึ้น แต่ใจหนึ่งก็ว่าไม่ได้ๆ อย่ายุ่ง ให้เขานอนให้สบายแล้วก็เลยถอยหลังมาที่ประตู รีบปิดประตูแล้วผลุนผลันออกไปเลย
ในที่สุดพระองค์ตัดสินพระทัยทิ้งลูกน้อยที่เพิ่งประสูติ ออกบวชเมื่อพระชนม์พรรษา ๒๙ ปี เสด็จหนีออกจากพระราชวังในเวลากลางคืน ประทับบนหลังม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะ อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดตามเสด็จด้วย สำหรับม้ากัณฐกะและนายฉันนะนี้ นับว่าอยู่ในสหชาติทั้งเจ็ดของพระพุทธเจ้าด้วย สหชาติทั้งเจ็ด คือสิ่งที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า มี

๑. พระพุทธองค์

๒. พระนางพิมพายโสธรา

๓. พระอานนท์

๔. นายฉันนะ

๕. อำมาตย์กาฬุทายี *

๖. ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา

๗. ม้ากัณฐกะ **

*อำมาตย์ผู้ใหญ่ท่านนี้ หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว และเที่ยวจาริกไปตามชนบทน้อยใหญ่เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ พระเจ้าสุทโธทนะได้จัดส่ง เป็นทูตคนสุดท้าย มาทูลเชิญเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ อำมาตย์คนก่อนๆ ที่ถูกส่งมา กลับใจออกบวชกันหมด เมื่อได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ยอมกลับไปทูลรายงานให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ กาฬุทายีก็เปลี่ยนใจ ออกบวชเช่นเดียวกันและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้ทูลเชิญ พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ได้สำเร็จ

**บางคนถามว่า ทำไมม้ามีอายุอยู่ได้ถึง ๒๙ ปีเชียวหรือ ความจริงม้าแก่อายุถึง ๔๕ ปีหรือมากกว่านี้ก็เคยมี
เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะที่ตามเสด็จ ทรงขับม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน ไป
สว่างเอาที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนกั้นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงถาม
นามแม่น้ำนี้กับนายฉันนะ นายฉันนะกราบทูลว่า "พระลูกเจ้า! แม่น้ำนี้มีชื่อว่า อโนมานที พระเจ้าข้า"

ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าประทับนั่งบนหาดทราย อัน
ขาวดุจแผ่นเงิน พระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา คือ ยอดหรือปลาย
พระเกศา กับพระโมฬี คือ มุ่นพระเกศา หรือผมที่มุ่นเป็นมวย แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ
เหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา

เสร็จแล้วทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการพรหมนำ
มาถวายพร้อมด้วยเครื่องบริขารอย่างอื่นของนักบวช แล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวชที่บนหาดทราย
ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานั่นเอง

ทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระ
ราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาท
ไม่อยากกลับไป แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญา

เจ้าชายหรือตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หนังสือพุทธประวัติเรียกว่า 'พระมหาบุรุษ' ทรงลูบหลัง
ม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของ
พระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ

ทั้งม้าทั้งคนคือนายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระ
มหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้ว
นำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาทรงและเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคน เดียว
หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จออกบรรพชาแล้ว ได้ทรงศึกษาค้นคว้า 
หาทางตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยวิธีการต่าง ๆ อยู่ถึง 6 พรรษา วิธีหนึ่งที่ทรงปฏิบัติคือการบำเพ็ญทุกกรกิริยา
ทุกกรกิริยา เป็นการทรมานตนให้ลำบากด้วยประการต่าง ๆ เริ่มแต่ทรงกัดพระทนต์ด้วยพระทนต์
กดพระดาลด้วยพระชิวหา ผ่อนลมหายใจเข้าออกทีละน้อย เสวยพระกระยาหารแต่น้อยจนถึงไม่เสวยเลย จนร่างกายซูบผอม ยากที่ผู้ใดจะทำได้เท่าเทียมกับพระองค์ นับเป็นความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ โดยมีพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เป็นผู้อุปัฏฐากและเป็นพยาน แต่การปฏิบัติดังกล่าวไม่ใช่ทางแห่งความตรัสรู้ และพระองค์ได้ทรงเลิกในเวลาต่อมา

ศุภนิมิตแห่งพิณสามสาย
พระมหาบุรุษได้กระทำความเพียรอย่างแรงกล้าถึงขั้นอุกฤษฏ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ในชมพูทวีป ถึงวาระที่ 3 คือ อดพระกระยาหารจนพระวรกายซูบผอม ซวนเซแทบจะทรงพระกายอยู่ไม่ได้นั้น อุปมาญาณก็ได้เกิดขึ้นในมโนธาตุของพระองค์ว่า "อันความเพียร ถ้าย่อหย่อนก็เสียผลที่หวัง ถ้าเคร่งครัดเกินไปก็ให้ผลเสียหาย" ต่อเมื่อกระทำได้พอดีทั้งกายและใจจึงจะเกิดผลต่อผู้บำเพ็ญ ดุจพิณสามสาย ถ้าหย่อนนักมักไม่ดัง ถ้าตึงนักมักขาด ต่อเมื่อพอดีจึงจะให้เสียงนิ่มนวลฟังได้ไพเราะ 
ภาพนี้ พระโบราณาจารย์ได้แสดงเป็นบุคคลาธิษฐานว่า เมื่อพระมหาบุรุษบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์ จวนเจียนพระชนม์จะแตกสลายอยู่นั้น ท้าวสักกะเทวราช ที่คอยให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์ แก่ธรรมจารีชนทั้งหลายอยู่เบื้องบน ได้เห็นความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของพระมหาบุรุษ จะไร้ผลเสียเปล่า จึงได้ถือพิณสามสาย เสด็จลงมาดีดถวาย สายที่หย่อนยาน ดีดเข้าไม่ดัง สายที่ตึงนักดีดเข้าก็ขาด สายที่สามพอดีดีดเข้าประสานเสียงกลมกลืนไพเราะ พระมหาบุรุษได้สติ จึงยึดเอาพิณสายกลางที่พอดี มาเป็นแนวทางปฏิบัติ คือตั้งความเพียรทางใจ ให้เป็นไปพอดี ไม่หย่อน ไม่ตึง จึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จึงสำเร็จพระโพธิญาณสมประสงค์ 
บรรดาปัญจวัคคีย์ เมื่อเห็นพระองค์เลิกทุกกรกิริยา กลับมาเสวยพระกระยาหาร ก็คลายศรัทธา พากันหลีกไป
ทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา
ครั้นพระมหาบุรุษตื่นผทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง ๕ แล้วทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ ครั้นได้ทรงทำสรีระกิจ สระสรงพระกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์ ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี ดิถีกลางเดือน ๖ ปีระกา

ประจวบด้วยวันวาน เป็นวันที่นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ครั้นนางได้สามีและบุตรสมนึก นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ ไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่ได้ไปบนบานไว้ ดังนั้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ จึงสั่งให้บ่าวไพร่ตระเตรียมการทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสได้ ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสี หญิงคนใช้ที่สนิทให้ออกไปทำความสะอาด แผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์

ดังนั้น นางปุณณทาสี จึงได้ตื่นแต่เช้า เดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปาจินทิศ (ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกไปเป็นปริมณฑล งามยิ่งนัก นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้ เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม นั่งคอยรับข้าวปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว นางก็ดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ

นางสุชาดามีความปลาบปลื้มกล่าวว่า ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา ๒ ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดพอดี แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์ ครั้นนางสุชาดาแต่งกายงามด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว ก็ยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูลเหนือเศียรเกล้าของนาง ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาเป็นอันมาก ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง

ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายใส่ข้าวปายาสไว้ นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่าหม่อมฉันขอถวายทั้งถาด พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่าความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วนางก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น
ทรงลอยถาดเสี่ยงพระบารมี
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาส แล้ว ทรงลอยถาดลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมกับทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ แม้นว่าไม่ได้สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยล่องไปตามกระแสน้ำ" พุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป จนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง จึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์พญานาคราชซึ่ง กำลังนอนหลับอยู่ในนาคพิภพได้ยินเสียงถาดกระทบกัน จึงทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกพระองค์หนึ่งแล้ว ( ในกัปปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าภัทรกัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๔ ทรงพระนามว่า "พระสมณโคดมพุทธเจ้า" )

 เชิญผู้ใคร่เห็นธรรมฟัง พระพุทธองค์ทรงมีชัยชนะต่อพระยามาร 
ทรงชนะมาร
ขณะนั้น พญาวัสวดีมาราธิราช ได้สดับเสียงเทพเจ้าบันลือเสียงสาธุการ ก็ทราบชัดในพระทัยว่า พระมหาบุรุษจะตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ทำลายบ่วงมารที่เราวางขึงรึงรัดไว้ แล้วหลุดพ้นไปได้ ก็น้อยใจ คิดฤษยา เคียดแค้น ป่าวประกาศเรียกพลเสนามารมากกว่ามาก พร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะที่ร้ายแรงเหลือที่จะประมาณเต็มไปในท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างพระที่นั่งคีรีเมขล์ นิรมิตมือพันมือ ถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพอันแสนร้าย เหาะมาทางนภาลัยประเทศ เข้าล้อมเขตบัลลังก์ของพระมหาบุรุษเจ้าไว้อย่างแน่นหนา

ทันใดนั้นเอง บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาห้อมล้อมถวายสักการะบูชาสาธุการพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อได้เห็นพญามารยกพหลพลมารมาเป็นอันมาก ต่างมีความตกใจกลัวอกสั่นขวัญหาย พากันหนีไปยังขอบจักรวาฬ ทิ้งพระมหาบุรุษเจ้าให้ต่อสู้พญามารแต่พระองค์เดียว

เมื่อพระมหาบุรุษไม่ทรงแลเห็นผู้ใด ใครที่ไหนจะช่วยได้ ก็ทรงระลึกถึงบารมีธรรมทั้ง ๓๐ ประการ ซึ่งเป็นดุจทหารที่แก่นกล้า มีศัตราวุธครบครัน สามารถผจญกับหมู่มาร ขับไล่ให้ปราชัยหนีไปให้สิ้นเชิงได้ และพร้อมกันมารับอาสาอยู่พร้อมมูลเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส ประทับนิ่งอยู่ โดยมิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด

ฝ่ายพญามารวัสวดีเห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งนิ่ง มิได้หวั่นไหวแต่ประการใดก็พิโรธร้องประกาศก้อง ให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการจนหมดฤทธิ์ บรรดาสรรพาวุธศัตรายาพิษที่พุ่งซัดไป ก็กลับกลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษจนสิ้น ครั้งนั้นพญามารตรัสแก่พระมหาบุรุษด้วยสันดานพาลว่า “ ดูกรสิทธัตถะ บัลลังก์แก้วนี้ เกิดเพื่อบุญเรา เป็นของสำหรับเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่สมควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว "

พระมหาบุรุษหน่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ตรัสตอบว่า "ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้ เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมา ที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังไขยยกัปป์ จะนับจะประมาณมิได้ ดังนั้น อาตมาผู้เดียวเท่านั้น สมควรจะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย"

พญามารก็คัดค้านว่า ที่พระมหาบุรุษรับสั่งมานั้น ไม่เป็นความจริง ให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้

เมื่อพระมหาบุรุษไม่เห็นผู้อื่นใด ใครจะกล้ามาเป็นพยานยืนยันในที่นี้ได้ จึงตรัสเรียกนางวสุนธรา เจ้าแห่งธรณีว่า "ดูกร วสุนธรา นางจงมาเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศลของอาตมาในกาลบัดนี้ด้วยเถิด"

ลำดับนั้น วสุนธรา เจ้าแม่ธรณี ก็ชำแรกแทรกพื้นปฐพีขึ้นมาปรากฏกาย ทำอัญชลีถวายอภิวาทพระมหาบุรุษเจ้าแล้ว ประกาศให้พญามารทราบว่า พระมหาบุรุษ เมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญบุญมามากมายตลอดกาล เหลือที่จะนับจะประมาณได้ แต่น้ำตรวจที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือไว้เป็นหลักฐานวินิจฉัยได้ นางวสุนธรากล่าวแล้วก็ประจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำตรวจที่สะสมไว้ในอเนกชาติให้ไหลหลั่งออกมาเป็นทะเลหลวง กระแสน้ำบ่าออกท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ทุ่มซัดพัดช้างนาฬาคีรีเมขล์ให้ถอยล่นลงไปติดขอบจักรวาฬ

ครั้งนั้น พญามารตกตลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิได้เคยเห็นมาแต่กาลก่อน ก็ประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษ แล้วก็อันตรธานหนีไปจากที่นั้น

เมื่อพระมหาบุรุษทรงกำจัดมารและเสนามารให้ปราชัยด้วยพระบารมี ตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันที่พระอาทิตย์จะอัศดงคต ก็ทรงเบิกบานพระทัย ได้ปิติเป็นกำลังภายในสนับสนุน เพิ่มพูนแรงปฏิบัติสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้น ดังนั้น พระมหาบุรุษจึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลา ทรงเจริญสมาธิภาวนา ทำจิตให้แน่วแน่ ปราศจากอุปกิเลส จนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน ซึ่งเป็นส่วนรูปสมาบัติ เป็นลำดับ จนถึงอรูปสมาบัติ ๔ บริบูรณ์.




ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้น พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง ราตรีเริ่มย่างเข้ามา พระ
มหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดใน
พระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่าเข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ

ฌาน คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ คือ ให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดา
ส่วนญาณคือปัญญาความรู้แจ้ง เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ 'ฌาน' แสง
สว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับปัญญา (ญาณ)

พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม (ประมาณ ๓ ทุ่ม) ญาณที่หนึ่งนี้เรียกว่า
'บุพเพนิวาสานุสติญาณ' หมายถึง ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น พอถึงมัชฌิม
ยาม (ประมาณเที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่สอง ที่เรียกว่า 'จุตูปปาตญาณ' หมายถึงความรู้แจ้งถึงความจุติ
คือ ดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า 'กรรม' พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วง
แล้ว) ทรงบรรลุญาณที่สามคือ 'อาสวักขยญาณ' หมายถึงความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔
คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์

การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิด
ขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา หลังจากนั้น พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ที่เกิดใหม่ ตอน
ก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษก็ดี ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปทรงมีพระนามใหม่
ว่า 'อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า' แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กวีจึงแต่งความเป็นปุคคลาธิษฐานเฉลิมพระ
เกียรติพระพุทธเจ้าว่า นำสัตว์ มนุษย์นิกร และทวยเทพในหมื่นโลกธาตุ หายทุกข์ หายโศก สิ้นวิปโยค
จากผองภัย สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิตต่อกันทุกถ้วนหน้า เว้นจากเวรานุเวร อาฆาตมาดร้ายแก่กัน

ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรร
เสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า

สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงใยดี
ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗
วัน คำว่า 'เสวยวิมุติสุข' เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็
คือพักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง

หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ต้น
นิโครธคือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ 'อชปาล' แปลว่า เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำนานบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้
เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาต้นไทรเป็นที่เลี้ยง
แพะเสมอมา

ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ นักแต่งเรื่องเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคนี้เกิดขึ้นภาย
หลัง พระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า ลูกสาว
พระยามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน ก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพระยา
มารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้ ลูกสาวพระยามารมี ๓
คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี
ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ เช่น เปลื้อง
ภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง เป็นสาวใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธ
เจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้วไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติแม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง

เรื่องธิดาพระยามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน ถอดความได้ว่า ทั้งสามธิดา
พระยามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่งคือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความ
เกลียดชัง ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัรหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเป็นราคา
หรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือ
ความริษยา
ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น ก็หมาย
ถึงว่า พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง
พญานาคมาขดขนดปกพระกายกำบังฝน
ทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขที่สระมุจลินท์ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ไม้จิก ปัจจุบันทั้งสระน้ำมุจลินท์และต้นมุจลินท์ไม่มีให้เห็นแล้ว มีแต่สระมุจลินท์จำลองที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณวิหารพุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระดั้งเดิม) และเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้นจึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์ เมื่อพระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขได้ ๗ วัน ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นจิกริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว ฝนตกพรำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน ร้อนถึงพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (นี้เป็นกำเนิดของพระพุทธรูปางนาคปรก) ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจดังนี้
"ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมแล้วยินดีอยู่ในสงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง"



พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้มา ทรง
เห็นว่า เป็นธรรมที่มีความหมายสุขุมละเอียด ก็ทรงบังเกิดความท้อพระทัยว่า จะมีใครสักกี่คนที่จะฟัง 
ธรรมของพระองค์รู้เรื่อง พระทัยหนึ่งจึงเกิดความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรดใครเลย

ท่านผู้รจนาคัมภีร์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ได้แต่งเรื่องสาธกให้เห็นเป็นปุคคลธิษฐานประกอบเข้า
ในตอนนี้ว่า พระดำริของพระพุทธเจ้าเรื่องนี้ได้ทราบไปถึงท้าวสหัมบดีพรหมในเทวโลก ท้าวสหัมบดีพรหม
จึงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเปล่งศัพท์สำเนียงอันดังถึงสามครั้งว่า "โลกจะฉิบหายในครั้งนี้"

ปฐมสมโพธิว่า "เสียงนั้นก็ดังแผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุ ท้าวสหัมบดีพรหมจึงพร้อมด้วยเทวา
คณานิกรลงมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรม"

ตอนท้าวสหัมบดีพรหมลงมาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลกนี้ กวี
ท่านแต่งเป็นอินทรวงศ์ฉันท์ภาษาบาลีไว้ว่า

"พรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ
กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ"

แปลว่า "ท้าวสหัสบดีพรหม ประณมกรกราบอาราธนาพระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐว่า 
สัตว์ในโลกนี้ ที่มีกิเลสบางเบาพอที่จะฟังธรรมเข้าใจนั้นมีอยู่ ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรมช่วยเหลือชาว
โลกเทฮญ"

ต่อมาภาษาบาลีที่เป็นฉันท์บทนี้ ได้กลายเป็นคำสำหรับอาราธนาพระสงฆ์ในเมืองไทยให้
แสดงธรรมมาจนทุกวันนี้

ท้าวสหัมบดีพรหมที่เสด็จมากราบทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระ
ศาสนาโปรดชาวโลก เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ แต่ง
เป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัวแสดงในเรื่อง ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐาน หรืออธิบายกันตรงๆ ก็คือ สหัมบดี
พรหมนั้น ได้แก่พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า 
คือพระมหากรุณา และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่า จะทรงแสดงธรรม 
หลังจากตัดสินพระทัยแล้ว จึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของของคนในโลก แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่ง
ระดับสติปัญญาของคนถึง ๔ ระดับ หรือ ๔ จำพวก

๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
๒. วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
๓. เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
๔. ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง

จำพวกที่หนึ่ง เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สอง เหมือนดอกบัวใต้น้ำ
ที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมา
บานในวันต่อๆ ไป และที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้ เพราะตก
เป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรงมองเห็นภาพของ
ดาบสทั้งสอง ที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรงเห็นเบญจวัคคีย์
ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก

สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม
วันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม 'ปฐมเทศนา' ดังที่เห็นอยู่ในภาพนั้น คือ วันขึ้น
๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์ คือ วันอาสาฬหบูชานั่นเอง
ผู้ฟังธรรมมี ๕ คน ที่เรียกว่า 'เบญจวัคคีย์' เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน คือ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก และการปล่อยชีวิตไปตาม
ความใคร่ ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย
แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า 'มัชฌิมาปฏิปทา' คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่กล่าวโดย
ย่อคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า 'ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร' หรือเรียกโดยย่อว่าธรรมจักร โดยเปรียบเทียบการแสดง
ธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพ
ต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม หรือธรรมจักร
พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง โกณฑัญญะ ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ
ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟัง
ธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ "อัญญาสิ วตโก โกณฑัญโญ ฯลฯ" แปลว่า "โอ! โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้ว ได้สำเร็จแล้ว" ตั้งแต่นั้นมา ท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า 'อัญญาโกณฑัญญะ'
โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาต
ให้ท่านบวช ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติ
พรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่าน ส่วนอีก ๔ ที่เหลือ
นอกนั้น ต่อมาได้สำเร็จและได้บวชเช่นเดียวกับพระโกณฑัญญะ

พระพุทธองค์ทรงประทาน โอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์สงฆ์ ในวันเพ็ญมาฆบูชา
หลังจากที่พระโมคคัลลาน์ สารีบุตร อัครสาวกซ้าย-ขวามาทูลขอบรรพชาเป็นเอหิภิกขุแล้วไม่นาน พระพุทธเจ้าได้ทรงประชุมพระสาวก
ขึ้นในวันเพ็ญกลางเดือนสาม ที่พระเวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การ
ประชุมพระสาวกครั้งนี้ ผู้นับถือศาสนาพุทธในสมัยก่อนต่อมาเห็นเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมาก จึง
กำหนดถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ว่า 'วันมาฆบูชา'

การประชุมพระสาวกของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ แปลกกว่าทุกคราวที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล คือ 
พระสาวกมีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แต่ละรูป แต่ละองค์ล้วนบวชกับพระพุทธเจ้า มีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน 
คือ พระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่างมาประชุมโดยไม่ได้นัดหมาย และพระพุทธเจ้าทรงแสดง
โอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุม การประชุมพระสาวกครั้งนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่ง ตามลักษณะแปลก ๔ ประการนี้ว่า 'จาตุรงคสันนิบาต'

ในเวลานั้น กรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่บรรดา
พระสาวกแยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนาต่างได้ทราบว่า เวลานั้นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จประทับอยู่
ที่กรุงราชคฤห์ เมื่อเสร็จกิจประกาศพระศาสนาจึงต่างจาริกมาเฝ้า เมื่อมาพร้อมหน้ามากตั้งพันกว่า พระ
พุทธเจ้าจึงประชุมพระสาวกแสดงโอวาทปาติโมกข์

'โอวาทปาติโมกข์' คือ หลักการโดยสรุปของศาสนาพุทธ มีทั้งหลักคำสอนและหลักการ
ปกครองคณะสงฆ์ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อด้วยกัน เช่นเป็นต้นว่า ศาสนาพุทธสอนว่า ละชั่ว ทำดี ทำจิต
บริสุทธิ์ สุดยอดของคำสอนอยู่ที่นิพพาน ดับกิเลสพ้นทุกข์ และเป็นพระเป็นต้องสำรวม กินอยู่พอประมาณ 
อดทน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น

สมัยที่กล่าวนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติวินัยปกครอง เพราะความเสียหายยังไม่เกิดจึง
ทรงวางหลักปกครองสงฆ์ไว้แต่โดยย่อ เทียบให้เห็นคือ เมืองไทยสมัยไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญปก
ครองราชอาณาจักร แต่มีธรรมนูญเป็นหลักปกครองแทน ธรรมนูญนี้เทียบได้กับโอวาทปาติโมกข์ ส่วนรัฐ
ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรก็เทียบได้กับวินัยพุทธบัญญัติทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นในเวลา ต่อมา

เสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์
ตลอดเวลา ๖ ปีกว่า คือ นับตั้งแต่เสด็จออกบวช ตรัสรู้ และประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ 
จนมีพระสาวกและคนนับถือมาก พระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เพื่อโปรดพระ
ประยูรญาติตามคำอาราธนาของพระสุทโธทนะพุทธบิดา

ด้วยพระทัยปรารถนาที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงอยู่ในฐานะหนึ่ง คือ พระราชโอรส เมื่อ
ทรงทราบว่าขณะนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ เพื่อประกาศพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ พระเจ้า
สุทโธทนะจึงส่งคณะฑูตไปทูลอาราธนา

คณะฑูตแต่ละคณะที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปเพื่อทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า มีหัวหน้าและ
บริวาร ซึ่งปฐมสมโพธิบอกว่าจำนวนหนึ่งพันคน รวมทั้งหมด ๑๐ คณะด้วยกัน คณะที่ ๑ ถึง ๙ ตาม
ลำดับ ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จอรหันต์ ยังมิได้กลับมาทูลรายงานให้พระเจ้าสุทโธทนะ
ได้ทราบ พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงส่งคณะอำมาตย์ เป็นคณะฑูตที่ ๑๐ ไปอีก คณะฑูตที่ ๑๐ นี้มี
กาฬุทายีเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า ก่อนออกเดินทาง
ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า กาฬุทายีทูลลาบวช เมื่อบวชแล้วจะทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้เสด็จมายัง
กรุงกบิลพัสดุ์ให้จงได้ พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุมัติ

ภายหลังเมื่อกาฬุทายีไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าได้ธรรมจนสำเร็จอรหันต์ และได้ขอบวชเป็น
พระสาวกพร้อมทั้งบริวารที่ติดตามไปแล้ว ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้นเป็น
หน้าแล้ง ย่างเข้าหน้าฝน

พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนาแล้ว พร้อมด้วยพระสาวก ที่ตำนานปฐมสมโพธิบอกว่า
จำนวน ๒ หมื่นรูป เสด็จออกเดินทางเป็นเวลาสองเดือน จึงถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จเข้าประทับใน
อารามของเจ้าศากยะผู้หนึ่ง ซึ่งชื่อว่า 'นิโครธ' ซึ่งพวกเจ้าศากยะพระญาติจัดถวายให้เป็นที่ประทับ อาราม
ในที่นี้ไม่ใช่วัด แต่เป็นสวน เป็นอุทยานอยู่นอกเมือง พวกพระประยูรญาติรวมทั้งพระเจ้าสุทโธทนะ ได้
พากันมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อารามแห่งนี้
เชิญผู้ใคร่เห็นธรรมฟัง สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี เพื่อศึกษาเพิ่มเติม

พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์ เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท
พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพายโสธรา ผู้เคยเป็นพระชายา เมื่อสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือเมื่อยังไม่ได้เสด็จออกบวช

วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพานี้ เป็นวันเดียวกับที่เสด็จไปทรงภัตตาหารใน
พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ดังได้บรรยายไว้แล้ว สถานที่เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา 
คือ ปราสาทที่ประทับของพระนางนั่งเอง ผู้ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาในการนี้ มีพระสารีบุตร พระโมค
คัลลานะ ผู้สองอัครสาวก และพระเจ้าสุทโธทนะ

พระนางพิมพาทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชเป็นต้นมา 
ด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางถูกพระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง ยิ่งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์
ครั้งนี้ ความเสียพระทัยยิ่งมีมากขึ้น ขนาดพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระนางยังเสด็จ
มาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงปราสาทที่ประทับของพระนางแล้ว พระนางยังเสด็จดำเนินมาเอง
ไม่ได้ พระนางก็ล้มฟุบลง กลิ้งเกลือกพระเศียรลงเหนือพระบาทพระพุทธเจ้า แล้วพิลาปรำพันกันแสงแทบ
สิ้นสมปฤดี

พระเจ้าสุทโธทนะทูลพระพุทธเจ้าถึงความดีของพระนางพิมพาว่า เป็นสตรีที่จงรักภักดีต่อ
พระพุทธเจ้า ไม่เคยแปรพระทัยเป็นอื่นเลยตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป พระพุทธเจ้าตรัสสนอง
พระดำรัสของพุทธบิดาว่า พระนางพิมพาจะได้ทรงซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์แต่เฉพาะในชาตินี้ก็หา
ไม่ แม้ในอดีตชาติหนหลังอีกหลายชาติ พระนางก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ตลอดมา แล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสชาดกอีกเป็นอันมากให้พระพุทธบิดา และพระนางพิมพาฟัง

พระนางฟังแล้ว ทรงสร่างโศกและคลายความเสียพระทัย ทรงเกิดปีติโสมนัสในพระธรรม
เทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง พระนางพิมพายโสธรา ก็ได้
ทรงบรรลุพระโสดาบัน หรือโสดาปัตติผล

พระราหุลแสดงความรักซาบซึ้งในพระพุทธองค์ผู้เป็นบิดา จนลืมทูลขอราชสมบัติ
ในวันที่ ๗ นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่เจ้า
ชายนันทะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้าได้บวชแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารได้เสด็จ
เข้าไปบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะอีก

เจ้าชายนันทะเป็นรัชทายาทที่สองรองจากพระพุทธเจ้า ที่จะครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้า
สุทโธทนะ แต่เมื่อนันทะออกบวช หรือที่จริงถูกพระเชษฐา คือพระพุทธเจ้าทรงจับให้บวชเสียแล้ว รัชทา
ยาท จึงตกอยู่แก่ราหุลกุมารผู้เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

พระนางพิมพายโสธรา พระมารดาของราหุล ทรงเห็นเป็นโอกาสดี เมื่อทรงทราบว่า พระ
พุทธเจ้าเสด็จเข้ามารับบิณฑบาต จึงแต่งองค์ให้ราหุลผู้โอรสงดงามด้วยเครื่องประดับของขัตติยกุมารแล้ว
ชี้บอกราหุลว่า "พระสมณะผู้ทรงสง่า มีผิวพรรณเหลืองดังทอง มีพระสุรเสียงไพเราะดุจเสียงพรหม ที่
พระสงฆ์สองหมื่นรูปแวดล้อมตามเสด็จ นั่นแหละคือพระบิดาของเจ้า"

พระนางพิมพาตรัสบอกพระโอรสให้ไปทูลขอรัชทายาท และทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของพระ
บิดาทั้งหมด ซึ่งยังมิได้ทรงโอนกรรมสิทธิ์ให้ใครเลย พระนางบอกผู้โอรสว่า ธรรมดาย่อมมีสิทธิที่จะ
ครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เป็นบิดา

ในเวลาที่กล่าวนี้ ปฐมสมโพธิบอกว่าราหุลกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ ปี นับตั้งแต่ประสูติมา
ไม่เคยเห็นองค์ผู้ทรงเป็นพระบิดา เพิ่งได้เห็นเป็นครั้งแรกก็เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จยังกรุงกบิลพัสดุ์นี่
เอง เมื่อได้เห็นและได้เข้าเฝ้าโดยใกล้ชิด ราหุลจึงเกิดความรักในพระพุทธเจ้ายิ่งนัก เป็นความรักอย่างลูก
จะพึงมีต่อพ่อ ราหุลกราบทูลพระพุทธเจ้าประโยคหนึ่ง ซึ่งถ้าจะถอดความให้เข้ากับสำนวนไทยก็ว่า "อยู่
ใกล้พ่อนี่มีความสุขเหลือเกิน" แล้วกราบทูลขอรัชทายาท และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระราชบิดา 
ตามที่พระมารดาทรงแนะนำ

พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่ากระไร ทรงฉันอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนา แล้วเสด็จ
กลับไปที่นิโครธารามพร้อมด้วยพระสงฆ์ โดยมีราหุลตามเสด็จเพื่อทูลขอสิ่งที่ทรงประสงค์ดังกล่าวไปด้วย

ทรงมอบสมบัติพระนิพพานแก่พระราหุล โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรองค์แรก

เมื่อราหุลติดตามพระพุทธเจ้าไปถึงนิโครธาราม เพื่อทูลขอรัชทายาทและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์
สมบัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ราหุลขอนั้นเป็นสมบัติทางโลกไม่ยั่งยืน เต็ม
ไปด้วยความทุกข์ในการปกปักรักษา ไม่เหมือนอริยทรัพย์ คือ ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้มา ทรงพระพุทธ
ดำริว่า "จำเราจะให้ทายาทแห่งโลกุตตระแก่ราหุล"

พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสารีบุตรมา แล้วรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บวช
สามเณรให้ราหุล ราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุครบบวช ต่อมาได้บวชเป็น
พระภิกษุและได้สำเร็จอรหันต์

เมื่อคราวนันทะซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาหมงคล แต่ยังไม่ทันเข้าพิธี เพราะถูกพระพุทธเจ้าจับ
บวชเสียก่อนนั้น พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงทราบข่าวแล้วเสียพระทัยมาก แต่ไม่สู้กระไรนัก เพราะ
ยังทรงเห็นว่าราหุลกุมารรัชทายาทองค์ต่อไปยังมีอยู่ แต่ครั้นทรงทราบว่าราหุลกุมารได้บวชเป็นสามเณร
เสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมากยิ่งกว่าเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช และเมื่อนันทะ บวช

พระเจ้าสุทโธทนะไม่อาจทรงระงับความทุกข์โทมนัสครั้งนี้ได้ จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่
นิโครธาราม แล้วทูลขอร้องพระพุทธเจ้าว่า ถ้าพระคุณเจ้ารูปใดจะบวชลูกหลานชาวบ้าน ก็ได้โปรดให้พ่อ
แม่เขาได้อนุญาตให้ก่อน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นพ่อแม่มาก ดุจที่พระองค์ได้
รับ เมื่อราหุลบวชในคราวนี้

พระพุทธเจ้าทรงรับตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอร้อง จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้เป็นธรรม
เนียมสืบมาจนทุกวันนี้ว่า ถ้าใครจะบวช ไม่ว่าบวชเป็นพระ หรือบวชเป็นสามเณร ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อ
แม่ผู้ปกครอง ตลอจนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือทุกวันนี้จึงเกิดจากกรณีดังกล่าวนี้

ทรงพานันทะไปชมนางฟ้า พระนันทะใคร่จะได้เป็นชายา ทรงรับรองจะให้สมหวัง
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเวลาประ
มาณหนึ่งสัปดาห์แล้ว ได้เสด็จกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารที่ตามเสด็จในการ
นี้ พระภิกษุนันทะ พระอนุชาผู้ถูกจับให้บวช และราหุลสามเณรก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

ต่อมา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมากได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แห่งแคว้นโกศล
ซึ่งเป็นเมืองและแคว้นใหญ่พอๆ กับกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พระนันทะก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

แต่ตลอดเวลานับตั้งแต่บวชแล้วเป็นต้นมา พระนันทะไม่เป็นอันปฏิบัติกิจของสมณะ ใจให้รุ่ม
ร้อนคิดจะลาสึกอยู่ท่าเดียว เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี เจ้าสาวคู่หมั้นซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับตน

ความเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน
แล้วทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขน ที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น ฯ

ก็สมัยนั้นแล นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าดุจนกพิราบ มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกะจอมเทพ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ เธอเห็นนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ผู้มีเท้า
ดุจนกพิราบหรือไม่ ท่านพระนันทะทูลรับว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรนันทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี หรือนางอัปสร
ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไหนหนอแลมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า หรือน่าเลื่อมใสกว่า ฯ

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงผู้มีอวัยวะใหญ่น้อยถูกไฟไหม้ หูและจมูกขาด ฉันใด นาง
สากิยานีผู้ชนบทกัลยานี ก็ฉันนั้นแล เมื่อเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ย่อมไม่เข้าถึงเพียงหนึ่ง
เสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงส่วนหนึ่งของเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงการเอาเข้าไปเปรียบว่าหญิงนี้เป็นเช่นนั้น ที่แท้นาง
อัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า ฯ

พ. ยินดีเถิดนันทะ อภิรมย์เถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอเพื่อให้ได้ นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อ ให้ได้นางอัปสรประ
มาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไซร้ ข้าพระองค์จักยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้า ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากเทวดาชั้นดาว
ดึงส์ไปปรากฏที่พระวิหารเชตวัน เหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียด แขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ภิกษุ
ทั้งหลายได้สดับข่าวว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติ
พรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสรประ
มาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ

ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหายของท่านพระนันทะ ย่อมร้องเรียกท่านพระนันทะด้วย
วาทะว่าเป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่าผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาว่า ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง
ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุนางอัปสร
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยวาทะว่า เป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่าเป็น
ผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาของพวกภิกษุผู้เป็นสหาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความ
เพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออก
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้น
แล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้
เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะ งามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวัน
ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้าง
หนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มี
พระภาค โอรสของพระมาตุจฉาทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลาย
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้ญาณก็ได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคว่า พระนันทะทำให้
แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระนันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม
แล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคทรงรับรองข้าพระองค์ เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจนกพิราบ ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้อง
พระผู้มีพระภาคจากการรับรองนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทะ แม้เราก็กำหนดรู้ใจของเธอด้วยใจ
ของเราว่า นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่าน พระ
นันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาคโอรสของพระมาตุจฉา ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาส
วะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรนันทะ เมื่อใดแล จิต
ของเธอหลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้น เราพ้นแล้วจากการรับรองนี้ ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนาม คือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะ
ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ ฯ

พระพุทธบิดาประชวร เสด็จไปโปรดกระทั่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพาน
ในปีที่ ๕ นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา กำหนดเวลานี้ว่าตามปฐมสมโพธิ พระพุทธเจ้าเสด็จประ
ทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี ได้ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาทรงประชวรหนักด้วย
พระโรคชรา ทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจ้าศากยะและเป็นพระญาติ
อีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตามพระพุทธเจ้า เช่น พระอานนท์ พระนันทะ และสามเณรราหุลผู้เป็นหลาน
พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งพระอานนท์ให้แจ้งข่าวพระสงฆ์ ถึงเรื่องที่พระองค์จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง
การเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า เพื่อทรงเยี่ยมพุทธบิดาที่กำลังทรงประชวรครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้าย
เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ได้เสด็จเข้าเยี่ยมพุทธบิดา ซึ่งมีพระอาการเพียบหนักแล้ว ทรงแสดง
ธรรมโปรดพุทธบิดาด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ปฐมสมโพธิบันทึกพระธรรมเทศนาของพระพุทธ เจ้าครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
"ดูกรบพิตร อันว่าชีวิตแห่งมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนักดำรงอยู่ โดยพลันบ่มิได้ยั่งยืนอยู่ช้า
ครุวนาดุจสายฟ้าแลบอันปรากฎมิได้นาน..."
พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งทรงสำเร็จอนาคามิผลอยู่ก่อนแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนา ตั้งแต่ต้น
จนจบก็ได้สำเร็จอรหันต์ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ หลังจากนั้นอีก ๗ วันก็สิ้นพระชนม์ (ปรินิพพาน)
พระพุทธเจ้าเสด็จสรงน้ำพระศพพุทธบิดา และถวายพระเพลิงพร้อมด้วยพระสงฆ์พระประ
ยูรญาติศากยะทั้งมวลจนเสร็จสิ้น
เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา
ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จสิ้น จนพวกเดียรถีย์ที่มาท้าแข่งพ่ายแพ้ไปแล้ว พระ
พุทธเจ้าทรงมีพุทธดำริถึงจารีตธรรมเนียมของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนว่า เมื่อทรงแสดง
ยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จทรงจำพรรษา ณ ที่ใด ก็ทรงทราบได้ด้วยพุทธญาณว่าทรงจำพรรษาที่สวรรค์ ชั้นดาวดึงส์

ปฐมสมโพธิลำดับการเสด็จจำพรรษาของพระพุทธเจ้าไว้ว่า ในพรรษาที่ ๗ (นับแต่ตรัสรู้
เป็นต้นมา) ได้เสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตามนิยายท้องเรื่องทั้งจากปฐมสมโพธิ และข้อเขียนโดยนักเขียนทางศาสนาพุทธอื่นๆ ยุค
หลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ที่เรียกกันว่า 'อรรถกถา' กล่าวตรงกันว่า เหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรร
ษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เพราะทรงต้องการจะแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายา
ซึ่งเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว เสด็จบังเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต

พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาที่โคนต้นปาริฉัตร ต้นไม้สวรรค์ มีผู้แปลกันว่า ได้แก่
ต้นทองหลาง ผิดถูกอย่างไรไม่ทราบ ภายใต้ต้นไม้สวรรค์นี้มีแท่นแผ่นหิน ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีแดง เรียก
ว่า 'บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์'

พระอินทร์จอมเทพได้ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงจำพรรษาที่นี้ ก็ทรงป่าวประ
กาศหมู่เทพยดาในสรวงสวรรค์ให้มาร่วมชุมนุม เพื่อฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปฐมสมโพธิว่า เสียงป่าวประ
กาศของพระอินทร์นั้น ดังปกแผ่ทั่วไปในสกลเทพยธานีทั้งหมื่นโยชน์ เทพเจ้าทั้งปวงได้สดับก็บังเกิดโสม
นัสพิศวง ต่างองค์ร้องเรียกซึ่งกันและกันต่อๆ กันไปจนตลอดถึงหมื่นจักรวาล

แม้พระนางสิริมหามายาพุทธมารดา ซึ่งทรงอยู่ในเพศเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตก็ได้เสด็จ
มาฟังธรรมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดาตลอดพรรษา พุทธมารดาได้
สดับแล้วทรงบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด ส่วนเทพนอกนั้นอีกจำนวนมาก ได้บรรลุมรรคผลตามสมควร อุปนิสัยแห่งตน

ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน
พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คือ จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อภาย
หลังเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดังกล่าวเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาแล้ว วันที่เสด็จลงคือวันออกพรรษา
เมืองที่เสด็จลงคือเมืองสังกัสนคร เสด็จลงตรงประตูเมือง พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นโลกนั้น ต่อมาได้
กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า 'อจลเจดีย์' เรียกอย่างไทยเราก็ว่า 'รอยพระพุทธบาท' ตามตำนานว่าที่นี่เป็น
ที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฎอยู่

ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จลง เทพเจ้าคือพระอินทร์ได้เนรมิตบันได ๓ บันไดเป็นที่เสด็จลง คือ
บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี บันไดทองสำหรับหมู่เทพลงอยู่ด้านขวา บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำ
หรับท้าวมหาพรหม และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ
เชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสนคร

หมู่คนทางเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอย่างที่เห็นในภาพ จึงคือหมู่เทพที่ตามส่งเสด็จ เบื้อง
ซ้ายผู้ถือฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าคือท้าวมหาพรหม ผู้อุ้มบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้าคือพระอินทร์ ผู้ถือ
พิณบรรเลงถัดมาคือปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตร ถัดมาเบื้องขวาคือมาตุลีเทพบุตร ซึ่งถือพานดอกไม้ทิพย์
โปรยปรายนำทางเสด็จพุทธดำเนิน

พระพุทธเจ้าทรงเป็นวิสุทธิเทพผู้บริสุทธิ์ นักเขียนศาสนาพุทธรุ่นต่อมาจึงถวายพระนาม
เฉลิมพระเกียรติอย่างหนึ่งว่า 'เทวาติเทพ' แปลว่า ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพทุกชั้น เทพต่างๆ ที่คนอินเดีย
ในสมัยนั้นนับถือกัน เช่น พระอินทร์ และท้าวมหาพรหม เป็นต้น

คนผู้นับถือศาสนาพุทธในเมืองไทย ถือกันว่าวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง จึงนิยมทำ
บุญตักบาตรกันในวันนี้ เพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกการตัก
บาตรนี้ว่า 'ตักบาตรเทโว' ย่อมาจากเทโวโรหณะ แปลว่า ตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จ
ลงจากเทวโลกนั่นเอง



ครั้นแล้วก็ทรงเปิดโลก บันดาลให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกแลเห็นซึ่งกันและกัน

วันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์นั้น พระองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์อีกครั้งหนึ่ง คือขณะ
ที่พระองค์ประทับยืนอยู่ที่บันไดแก้ว ทรงทอดพระเนตรไปทางทิศเบื้องบน เทวโลกและพรหมโลกก็เปิด
มองเห็นโล่ง เมื่อทรงทอดพระเนตรไปในทิศเบื้องต่ำ นิรยโลกทั้งหลายก็เปิดโล่ง ในครั้งนั้น สวรรค์ มนุษย์
และสัตว์นรก ต่างก็เห็นซึ่งกันและกันทั่วจักรวาล

ภาพนี้อยู่ในเหตุการณ์ตอนเดียวกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกเหตุ
การณ์ตอนนี้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก โลกที่ทรงเปิดในเหตุการณ์คราวนี้มี ๓ โลก คือ เทวโลก มนุษย โลก และยมโลก

เทวโลก หมายถึง ตั้งแต่พรหมโลกลงมาจนถึงสวรรค์ทุกชั้น มนุษย์โลกก็คือโลกมนุษย์ และ
ยมโลกซึ่งอยู่ทางเบื้องต่ำ คือ นรกทุกขุมจนกระทั่งถึงอเวจีมหานรก

พระพุทธเจ้าขณะเสด็จลงจากสวรรค์ ทอดพระเนตรดูเบื้องบนโลกทั้งมวลตั้งแต่มนุษย์ก็สว่าง
โล่งขึ้นไปถึงเทวโลก เมื่อทรงเหลียวไปรอบทิศรอบด้านสากลจักรวาลก็โล่งถึงกันหมด และเมื่อทอดพระเนตร
ลงเบื้องล่าง ความสว่างก็เปิดโล่งลงไปถึงนรกทุกขุม

ผู้อาศัยอยู่ในสามโลกต่างมองเห็นกัน มนุษย์เห็นเทวดา เทวดาเห็นมนุษย์ มนุษย์และเทวดา
เห็นสัตว์นรก สัตว์นรกเห็นเทวดาและมนุษย์ แล้วต่างเหลียวมองดูพระพุทธเจ้าผู้เสด็จลงจากสวรรค์ด้วยพระ เกียรติยศอันยิ่งใหญ่

คัมภีร์ธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แต่งบอกว่า "วันนี้คนทั้งสามโลกได้เห็นแล้ว ที่ไม่
อยากเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่มีเลยสักคน" ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ยิ่งกว่านี้เสียอีก คือว่า

"ครั้งนั้นเทพยดามนุษย์แลสัตว์เดรัจฉาน กำหนดที่สุดมดดำมดแดง ซึ่งได้เห็นองค์พระชินสีห์
แลสัตว์คนใดคนหนึ่งซึ่งจะมิได้ปรารถนาพุทธภูมินั้นมิได้มีเป็นอันขาด"

พุทธภูมิ คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า

++ เชิญผู้ใคร่เห็นธรรมฟัง พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน 3 เดือนเพื่อศึกษาเพิ่มเติม ++



เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยสูกรมัททวะที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ได้เสด็จออกจากเขตแขวงเมืองไพศาลีไปโดยลำดับ
เพื่อเสด็จไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ทรงกำหนดว่าจะนิพพานเป็นแห่งสุดท้าย จนไปถึงเมืองปาวาในวันขึ้น
๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันก่อนเสด็จนิพพานเพียงหนึ่งวัน

เสด็จเขัาไปประทับอาศัยที่สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะเป็นลูกนายช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเสด็จมาพักอยู่ที่สวนมะม่วงของตน ก็ออกไป
เฝ้าและฟังธรรม ฟังจบแล้ว นายจุนทะกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์เสด็จไปรับภัตตา
หารที่บ้านของตนในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น

เวลาเช้าวันรุ่งขึ้น นายจุนทะได้ถวายอาหารพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่บ้านของตน อาหาร
อย่างหนึ่งที่นายจุนทะปรุงถวายพระพุทธเจ้าในวันนี้มีชื่อว่า 'สูกรมัททวะ'

คัมภีร์ศาสนาพุทธชั้นอรรถกถาและมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกันว่า 'สูกรมัทท
วะ' นั้นคืออะไรแน่ บางมติว่าได้แก่สุกรอ่อน (แปลตามตัว สูกร-สุกร หรือหมู มัททวะ-อ่อน) บางมติว่า
ได้แก่ เห็นชนิดหนึ่ง และบางมติว่าได้แก่ ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวาย
แก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด เช่น เทพเจ้า เป็นต้น เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส

พระพุทธเจ้าตรัสบอกนายจุนทะให้จัดถวายสูกรมัททวะนั้นถวายแต่เฉพาะพระองค์ ส่วน
อาหารอย่างอื่นให้จัดถวายพระสงฆ์ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จแล้ว รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาสูกร
มัททวะที่เหลือจากที่พระองค์ทรงฉันแล้ว ไปฝังเสียที่บ่อ เพราะคนอื่นนองจากพระองค์นั้นฉันแล้ว ร่าง
กายไม่อาจจะทำให้อาหารนั้นย่อยได้ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้นายจุนทะฟังเป็นที่ชื่นชม
และรื่นเริงในกุศลบุญจริยาของ แล้วทรงอำลานายจุนทะเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินาราต่อไป


ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทเป็นวาระสุดท้ายแล้วก็หยุดมิได้ตรัสอะไรอีกเลย
ทรงทำพระนิพพาน บริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลม (ตามลำดับ) ดังนี้

ทรงเข้าปฐมฌาน (ฌานที่ ๑ ) ออกจากปฐมฌานแล้ว
ทรงเข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ออกจากทุติยฌานแล้ว
ทรงเข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) ออกจากตติยฌานแล้ว
ทรงเข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ออกจากจตุตถฌานแล้ว
ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าอากิญจักญายตนะ ออกจากอากิญจักญายตนะแล้ว
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ ๙ อันเป็นนิโรธสมาบัติที่มีอาการสงบที่สุด ถึงดับสัญญาและเวทนา
คือไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุดสงบยิ่งกว่านอนหลับ
ผู้ไม่คุ้นเช่นพระอานนท์เข้าใจว่าพระบรมศาสดาเข้าสู่นิพพานแล้ว
แต่พระอนุรุทธเถระผู้เชี่ยวชาญสมาบัติชี้แจงว่าบัดนี้พระพุทธองค์กำลังเสด็จอยู่ใน
สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

จากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงเสด็จออกจาก

สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือถอยตามลำดับจนถึงปฐมยาม
(เหมือนขึ้นสู่ตึกชั้นที่ ๙ แล้วถอยลงมาสู่ชั้นที่ ๘ ตามลำดับจนถึงชั้นที่ ๑)
แล้วย้อนจากปฐมยาม ขึ้นไปสู่ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นลำดับสุดท้าย
จึงปรินิพพานอยู่ในฌาน เป็นธรรมเนียมนิยมทั่วไปเพราะขณะอยู่ในฌาน
อานุภาพของฌานย่อมรักษาตลอดเวลาที่ยังดำรงอยู่ในฌานนั้น ๆ
เป็นการนิพพานโดยไม่ติดในรูปฌานหรือในอรูปฌาน

หลังจากที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหว กลองทิพย์บรรเลง เสียงกึกก้องกัมปนาท ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกเทวราช พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระเป็นอาทิ ได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยงถาวรแห่งสังขาร ด้วยความเคารพเลื่อมใส เหล่ามหาชนพุทธบริษัททั้งหลายที่ประชุมกันอยู่ ณ สาลวันนั้นต่างก็โศกเศร้าร้องร่ำไรรำพัน พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระเจ้าได้แสดงธรรมกถาปลุกปลอบ เพื่อให้คลายความเศร้าโศกโทมนัส

พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ใน เมืองกุสีนคร) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะพุทธศาสนิกชน ได้สูญเสียดวงประทีปของโลก ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนา

"การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง"
อ่านแล้วบอกต่อได้กุศลเรืองรอง
ขอบคุณทุกท่านครับ


อนุญาตคัดลอกLinkนี้ลงFace bookหรือWebsiteของท่านได้
http://watchang.blogspot.com/2012/09/blog-post_6250.html





ขอขอบพระคุณ
ข้อมูลจากhttp://www.kidsdee.org